ชื่อสมุนไพร : ว่านหางช้าง
ชื่ออื่นๆ : ว่านหางช้าง, ว่านมีดยับ, ว่านแม่ยับ(ภาคเหนือ), ตื่นเจะ(ม้ง), ว่านพัดแม่ชีม และ เชื่อกัง(จีน)
ชื่อสามัญ : Blackberry Lily , Leopard Lily
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Belamcanda chinensis (L.) DC.
ชื่อวงศ์ : IRIDACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นว่านหางช้าง เป็นล้มลุกมีอายุหลายปี สูงประมาณ 1-1.5 เมตร มีลำต้นอยู่ใต้ดินและมีรากมาก มีเหง้าเลื้อยไปตามแนวขนานกับพื้นดิน
- ใบว่านหางช้าง เป็นใบเดี่ยวออกตรงโคนของลำต้น เรียงสลับซ้ายขวาในระนาบเดียวกัน รูปดาบ ปลายใบแหลม โคนใบเป็นกาบ ขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา
- ดอกว่านหางช้าง เป็นช่อตามปลายยอด แกนช่อแตกแขนงดอกออกที่ปลายแขนง 6-12 ดอก เมื่อดอกร่วงก้านดอกยังคงอยู่ ส่วนกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็นกลีบลักษณะรูปขอบขนาน 6 กลีบ เรียงกันเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ โดยกลีบชั้นในจะมีขนาดเล็กกว่ากลีบชั้นนอกเล็กน้อย เมื่อดอกบานกลีบดอกจะกางออก โคนกลีบมีลักษณะสอบแคบจนเป็นก้าน ด้านนอกมีสีเหลือง ส่วนด้านในและขอบกลีบมีสีส้ม มีจุดประสีแดงเข้มๆ กลีบชั้นนอกจะมีต่อม เป็นร่องยาว 1 ต่อม มีสีแดงเข้ม
- ผลว่านหางช้าง มีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ เป็นพูลึก 3 พู เปลือกผลบาง ผลเมื่อแก่จะแตกอ้าออกเป็น 3 เสี่ยง มีเมล็ดอยู่พูละ 3-8 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลม มีสีดำและผิวเป็นมัน มีขนานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, เหง้าสด, ใบ และเนื้อในลำต้น
สรรพคุณ ว่านหางช้าง :
- ราก เหง้าสด แก้เจ็บคอ ช่วยขับเสมหะ แก้ไข้ รักษาโรคคางทูม ช่วยรักษาอาการท้องมาน
- ใบ ยาระบายอุจจาระ แก้ระดูพิการของสตรี
- เนื้อในลำต้น บำรุงธาตุ แก้โรคระดูพิการของสตรี บำบัดโรคต่อมทอนซิลอักเสบ ยาถ่าย ช่วยทำให้เจริญอาหาร