ชื่อสมุนไพร : ว่านนางคำ
ชื่ออื่น : ขมิ้นขึ้น, พญาว่าน (ทั่วไป)
ชื่อสามัญ : Wild Turmeric
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma aromatica Salisb.
ชื่อวงศ์ : ZINGIBERACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นว่านนางคำ เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นแท้เป็นหัวใต้ดินแตกออกเป็นแง่ง ส่วนลำต้นเหนือดินที่มองเห็นจะเป็นลำต้นเทียมซึ่งเป็นส่วนของกาบใบ และใบ ที่โอบซ้อนกันจนแน่น ทำให้เข้าใจกันทั่วไปว่า ลำต้น โดยหัวหรือลำต้นแท้มีลักษณะค่อนข้างกลมเป็นแง่งยาว มีเปลือกหุ้มสีน้ำตาลอมเทา เนื้อด้านในมีเหลืองเข้มหรือเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม รสฝาด โดยหัวว่านนางคำมักจะแตกแง่งออก 2-5 แง่ง เพื่อเติบโตเป็นลำต้นใหม่ในฤดูฝนของปีถัดไป
- ใบว่านนางคำ เป็นใบเลี้ยงเดี่ยว แตกออกจากหัวใต้ดินใน 1 ต้นจะแตกออกมา โดยมี 5-8 ใบ มีสีเขียวสด กาบที่ใบยาวประมาณ 20-30 ซม. เรียงซ้อนกันแน่นเป็นลำต้นเทียม มีสีเขียวอมขาว ส่วนใบมีลักษณะเป็นรูปหอก กว้างประมาณ 10-15 ซม. ยาวประมาณ 40-70 ซม. แผ่นใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม คล้ายใบขมิ้นชัน และ ใบขมิ้นอ้อยแต่จะใหญ่กว่า ท้องใบด้านล่างมีขนปกคลุม มีเส้นใบมองเห็นชัดเจน ส่วนมีเส้นกลางใบ และขอบใบออกสีแดงมองเห็นชัดเจนเช่นกัน
- ดอกว่านนางคำ ดอกช่อเชิงลด มักมีดอกก่อนใบงอกจากเหง้า ช่อดอกยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร ใบประดับที่ปลายช่อสีชมพู ใบประดับที่รองรับดอกสีขาวแกมเขียว ปลายโค้ง ยาวได้ถึง 6 ซม. ใบประดับย่อยสีขาว ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาวแกมชมพู แฉกกลางรูปไข่กว้าง แฉกข้างรูปขอบขนาน กลีบปากรูปโล่แยกเป็น 3 แฉก สีเหลืองเข้ม
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เหง้า, ราก
สรรพคุณ ว่านนางคำ :
- เหง้า รสฝาดร้อนหอม ฝนทาหรือพอก แก้ผดผื่นคัน แก้ฟกช้ำปวดบวม ต้มหรือบดรับประทาน ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง แก้ลงท้อง แก้โรคแผลในกระเพาะอาหาร แก้โรคหนองในเรื้อรัง
- ราก รสร้อนหอม ต้มรับประทานขับเสมหะ