มะรุม

มะรุม

ชื่อสมุนไพร : มะรุม
ชื่ออื่น ๆ
 : มะรุม, ผักอีฮืม, มะค้อนก้อม, บ่าค้อนก้อม(ภาคเหนือ), มะรุม(ภาคกลาง), ผักอีฮุม(ภาคอีสาน)
ชื่อสามัญ : Horse Radish Tree, Drumstick Tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Moringa oleifera Lam.
ชื่อวงศ์ : MORINGACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • มะรุม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 15-20 เมตร ลำต้นเป็นพุ่มโปร่ง เนื้อไม้อ่อน เปลือกแตกร่อน สีน้ำตาลอ่อนปนเทา กิ่งอ่อนมีขน กิ่งก้านหักง่าย ผิวค่อนข้างเรียบ
  • ใบมะรุม เป็นใบประกอบแบบขนนก 3 ชั้น ออกเรียงสลับ ยาวราว 45 เซนติเมตร โคนก้านใบประกอบป่องออก ใบย่อยรูปไข่หรือรูปรี กว้าง 0.7-2 เซนติเมตร ยาว 1-3 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ เนื้อใบนิ่มอ่อนบาง หลังใบและท้องใบเรียบ ใบที่อยู่ปลายสุดจะมีขนาดใหญ่กว่าใบอื่น
  • ดอกมะรุม ออกเป็นช่อ ออกตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกย่อยกลีบดอกสีขาวแกมเหลืองมะรุมจำนวนมาก กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปไข่กลับ ปลายมน แต่ละกลีบมีขนาดไม่เท่ากัน ขนาดดอกโตเต็มที่ประมาณ 1 นิ้ว กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ไม่เท่ากัน คล้ายกลีบดอก เกสรเพศผู้มี 5 อัน เรียงสลับกับเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันอีก 5-7 อัน รังไข่มี 1 ห้อง

 

  • ผลมะรุม เป็นฝักทรงกระบอกกลม ยาว 40-50 เซนติเมตร ฝักมีรอยคอด ตามแนวเมล็ด และมีสันตามยาว 9 สัน เปลือกฝักหนา ปลายฝักแหลม ฝักแห้งแตกออกเป็น 3 ซีก เมล็ดกลม มีปีก 3 ปีก มีเมล็ดจำนวนมาก

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบสด, เปลือกต้น, กระพี้, ฝัก, ราก, ดอก, เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด

สรรพคุณ มะรุม :

  • ใบสด  ใบมีรสเฝื่อน มีวิตามินซีและเอมาก ใช้เป็นยากินแก้โรคเลือดออกตามไรฟัน โรคเยื่อเมือกอักเสบ หรือใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกบริเวณที่เป็นแผล
  • เปลือกต้น  มีรสร้อนเฝื่อน ร้อน ใช้ขับลมในลำไส้ ทำให้ผายลมเรอ แก้ลมขึ้นเบื้องสูง คุมธาตุอ่อนๆ แก้ลม แก้ฝี แก้พยาธิ เป็นยาอายุวัฒนะ ต้มเป็นกระสายยาแก้หอบหืด
  • เปลือกสด  ตำอม ถอนพิษเมาสุรา
  • กระพี้  รสร้อนเฝื่อน แก้ไข้สันนิบาตเพื่อลม
  • ฝัก  มีรสหวานเย็น ดับพิษถอนไข้ แก้ปัสสาวะไม่ปกติ
  • ราก  มีรสเผ็ดหวานขม แก้บวม ช่วยกระตุ้นหัวใจ บำรุงหัวใจ บำรุงไฟธาตุ นำรากทุบพอแตกอมไว้ข้างแก้ม ดื่มสุราจะไม่เมา  ราก ทำให้ความดันเลือดสูง ทำให้หัวใจเต้นเร็ว นำมาปรุงเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้บวม บำรุงไฟธาตุ บำบัดโรคท้องมาน
  • ดอก  มีรสจืด เป็นยาบำรุง ขับปัสสาวะ และขับน้ำตา
  • เมล็ด  รสจืดมัน แก้ไข้ แก้หอบ ตำพอกแก้ปวดตามข้อ แก้บวม บำรุงไฟธาตุ
  • น้ำมันจากเมล็ด  (ben oil) ไม่มีสี กลิ่น และรส ใช้ทำยาขี้ผึ้งทาถูนวดแก้ปวดเมื่อย ปวดตามข้อ แก้ปวดลดไข้ บำรุงหัวใจ ใช้ทำเครื่องสำอาง น้ำหอม ปรุงอาหาร ใช้เป็นน้ำมันสลัดมะรุม

 

Scroll to top