ธรณีสาร

ธรณีสาร

ชื่อสมุนไพร : ธรณีสาร
ชื่ออื่น ๆ
 : ว่านธรณีสาร, เสนียด(กรุงเทพมหานคร), กระทืบยอด(ชุมพร), ตรึงบาดาล(ประจวบคีรีขันธ์), ก้างปลาดิน, ดอกใต้ใบ(นครศรีธรรมราช), คดทราย(สงขลา), ก้างปลาแดง, ครีบยอด(สุราษฎร์ธานี), ก้างปลา(นราธิวาส), มะขามป้อมดิน(เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus pulcher Wall. Ex Muell.Arg.
วงศ์ : Euphorbiaceae.

 ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นธรณีสาร ไม้พุ่มกึ่งยืนต้น ขนาดเล็ก สูง 1-1.5 เมตร ลำต้นตั้งตรง แผ่กิ่งก้านที่บริเวณใกล้ปลายยอด เปลือกต้นเรียบ เป็นสีน้ำตาล ลำต้นกลม มีรอยแผลใบตามลำต้น มีขนนุ่มที่กิ่งอ่อนและใบประดับ ส่วนอื่นเกลี้ยง
  • ใบธรณีสาร เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับแน่นระนาบเดียว บริเวณปลายยอด ประมาณ 15-30 คู่ ในแต่ละกิ่งย่อย แผ่นใบรูปขอบขนานเบี้ยว หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 0.8-1.3 เซนติเมตร ยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบมนเบี้ยว ขอบใบเรียบ ปลายสุดมีติ่งแหลมเล็ก แผ่นใบเรียบทั้งสองด้าน แผ่นใบแผ่  และบาง หลังใบสีเขียว ด้านท้องใบสีเทาแกมเขียว เส้นใบข้าง 6-8 คู่ ก้านใบสั้น ยาว 0.8-1.5 มิลลิเมตร ก้านมีสีแดงเล็กน้อย หูใบรูปหอกแกมสามเหลี่ยม ขนาด 3-4 × 1.5-2 มิลลิเมตร สีน้ำตาลแดง
  • ดอกธรณีสาร เป็นดอกเดี่ยว สีแดงเข้ม แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ใบประดับมีขนนุ่มที่ฐาน ดอกตัวผู้ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ กลีบดอกมี 4 กลีบ โคนสีแดง เกสรเพศผู้มี 2 อัน ก้านชูสั้น เชื่อมติดกัน อับเรณูแตกตามยาว ก้านดอกบาง ยาว 5-10 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ขนาด 2-3 × 1-2 มิลลิเมตร สีแดงเข้ม ของแหว่ง มีต่อม จานฐานดอกเป็นต่อม 4 อัน รูปเหลี่ยม หรือรูปไต แบนบาง กว้าง  0.5-0.7  มิลลิเมตร ดอกตัวเมียมักออกตามซอกใบที่ปลายกิ่ง ดอกห้อยลง เรียงกันอยู่หนาแน่นตามใต้ท้องใบ กลีบดอกมี 6 กลีบ รูปไข่ ก้านดอกคล้ายเส้นด้าย ยาว 15-23 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกติดกัน  มีขนตามขอบกลีบ ปลายกลีบดอกสีเขียว โคนกลีบดอกสีม่วงแดง กลีบเลี้ยง 6 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ขนาด 3.5-4 × ca. 1.5 มิลลิเมตร ขอบแหว่ง รังไข่รูปกึ่งกลม เกลี้ยง ส่วนปลายมี 6 พู ภายในรังไข่มี 3 ห้อง มีก้านชู 3 อัน
  • ผลธรณีสาร รูปทรงกลม ขนาด 3 มิลลิเมตร ผิวเกลี้ยง สีน้ำตาลอ่อน ก้านยาว 2-2.5 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงติดอยู่คงทน ผลเรียงเป็นแนวดูเป็นระเบียบอยู่ใต้ใบ
  • พบกระจายตามป่าผลัดใบ ที่ระดับความสูงไม่เกิน 400 เมตร ออกดอกราวเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ติดผลราวเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน จัดเป็นไม้มงคลโบราณนำมาประกอบทำน้ำมนต์ โดยใช้ใบของธรณีสารชุบน้ำมนต์ประพรมเป็นการปัดรังควานและเสนียดจัญไร

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ต้น, ราก

สรรพคุณ ธรณีสาร :

  • ใบแห้ง บดเป็นผงแทรกพิมเสนกวาดคอเด็ก เพื่อลดไข้ รักษาแผลในปาก และขับลม ใช้พอกฝี บรรเทาอาการปวดบวมและคัน
  • ต้น ต้มน้ำกินแก้ปวดท้อง เป็นยาล้างตา แก้ฝีอักเสบ แก้อาการขัดเบา
  • ใบสด ตำเป็นยาพอกเหงือกแก้ปวดฟัน และแก้อาการบวม และคันตามร่างกาย
  • ราก รสจืดเย็น แก้ไข้ตัวร้อน แก้พิษตานซางเด็ก ต้มดื่มขับลมในลำไส้ ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดท้อง
Scroll to top