ชิงชี่

ชิงชี่

ชื่อสมุนไพร : ชิงชี่
ชื่ออื่น ๆ
: กระดาดป่า(ชลบุรี), ชายชู้, หมากมก(ชัยภูมิ), หนวดแมวแดง(เชียงใหม่), คายซู(อุบลราชธานี), พญาจอมปลวก, กระดาดขาว, กระโรกใหญ่, กินขี้, จิงโจ้, แสมซอ, ค้อนฆ้อง, ซิซอ, เม็งซอ, ราม, แส้ม้าทะลาย, พุงแก, น้ำนอง, น้ำนองหวะ, เม็งซอ, พวงมะละกอ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Capparis micracantha DC.
ชื่อวงศ์ : Capparidaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นชิงชี่ เป็นไม้พุ่มหรือกึ่งเลื้อย สูง 2-6 เมตร กิ่งก้านอ่อนมีสีเขียว ผิวเรียบเกลี้ยง กิ่งคดไปมา มีหนามยาว 2-4 มิลลิเมตร ตรงหรือโค้งเล็กน้อย ลำต้นสีเทา ผิวเปลือกเป็นกระสีขาว แตกระแหง
  • ใบชิงชี่ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปไข่ กว้าง 3-15 เซนติเมตร ยาว 9.5-24 เซนติเมตร ปลายใบมนหรือแหลม หรือเว้าเล็กน้อยแล้วเป็นติ่ง โคนใบสอบมนหรือค่อนข้างเว้า ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบค่อนข้างหนา มัน เกลี้ยง หลังใบเรียบเป็นมัน ท้องใบเรียบ ก้านใบยาว 0.7-1 เซนติเมตร
  • ดอกชิงชี่ ดอกเดี่ยว ออกเรียงเป็นแถว 1-7 ดอก ตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ออกเรียงอยู่เหนือง่ามใบ ก้านดอกยาว 1-2 เซนติเมตร กลีบรองกลีบดอก ลักษณะเว้าเป็นรูปเรือแกมรูปไข่ กว้าง 2.5-5.5 มิลลิเมตร ยาว 5.5-13 มิลลิเมตร ขอบมักมีขน กลีบดอกรูปขอบขนาน หรือรูปหอก กว้าง 3-7 มิลลิเมตร ยาว 10-25 มิลลิเมตร สีขาว หลุดร่วงง่าย มี 2 กลีบด้านนอก สีขาวแต้มเหลืองและจะเปลี่ยนเป็นแต้มสีม่วงปนน้ำตาล มีต่อมน้ำหวาน ที่โคนก้านดอก เกสรเพศผู้เป็นเส้นเล็กฝอยๆสีขาว เหมือนหนวดแมวยื่นออกมา มี 20-35 อัน ก้านยาว รังไข่รูปไข่ เกลี้ยง
    ชิงชี่
  • ผลชิงชี่ ผลสด ค่อนข้างกลมหรือรี มี 4 ร่องตามยาว ผิวผลเรียบ แข็งเป็นมัน กว้าง 3-6.5 เซนติเมตร สีเขียวน้ำตาล เมื่อสุกสีเหลืองหรือแดง หรือดำ เนื้อรสหวานรับประทานได้ เมล็ดรูปไต สีแดงหรือดำ เป็นมัน อัดกันแน่นเป็นจำนวนมาก

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ต้น, ใบ, ดอก, ผล, ราก

สรรพคุณ ชิงชี่ :

  • ราก รสขมขื่น แก้โรคที่เกิดในท้อง แก้ไข้เพื่อลม ขับลมภายในให้ซ่านออกมา แก้ไข้ร้อนภายในทุกชนิด แก้ไข้เพื่อดีและโลหิต ไข้พิษ ไข้กาฬ แก้โรคตา
  • ทั้ง รสขื่นปร่า ตำพอกแก้ฟกช้ำ ฟกบวม แก้ไข้ ขับน้ำเหลืองเสีย
  • ใบ รสเฝื่อนเมา เข้ายาอาบ แก้โรคผิวหนัง รักษาประดง ใบต้มดื่ม แก้โรคผิวหนัง แก้สันนิบาต ไข้ฝีกาฬ แก้ตะคริว ใบเผาเอาควันสูดแก้หลอดลมอักเสบ ไข้พิษ ฝีกาฬ ไข้สันนิบาต
  • รากและใบ แก้หืด แก้เจ็บในทรวงอก เป็นยาระงับความร้อน กระทุ้งพิษไข้ออกหัด อีสุกอีใส ตำพอกแก้ฟกช้ำบวม
  • ดอก รสขื่นเมา แก้มะเร็ง
  • ผลดิบ รสขื่นปร่า แก้โรคในลำคอ เจ็บคอ ลำคออักเสบ
Scroll to top