จันทนา

จันทนา

ชื่อสมุนไพร : จันทนา
ชื่ออื่นๆ :
จันทน์ขาว (ทั่วไป), จันทน์หอม (ระยอง), จันทน์ใบเล็ก (ประจวบคีรีขันธ์), จันทน์ตะเนี้ย, จันทน์ตะเบี้ย (ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tarenna hoaensis Pitard.
ชื่อวงศ์ : RUBIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นจันทนา จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ถึงขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 5-10 เมตร ลำต้นตั้งตรงเรือนยอดเป็นทรงพุ่มยาวรีมีกิ่งแขนงแตกเป็นพุ่ม เปลือกต้น ผิวเรียบบาง มีสีน้ำตาลเข้ม เนื้อไม้ และแก่นมีสีเหลืองขาวนวล หรือ ออกน้ำตาลอ่อนๆ มีกลิ่นหอม และมีรสขม หวาน หรือ ขมเย็น
    จันทนา
  • ใบจันทนา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบมนมีหางแหลม โคนใบสอบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 24 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเรียบเป็นมัน หลังใบและท้องใบเกลี้ยง มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมฐานแคบปลายเรียวแหลม
  • ดอกจันทนา ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ในหนึ่งช่อดอกจะมีดอกประมาณ 8-12 ดอก ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอกเป็นสีขาว โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายจะแยกเป็นกลีบดอก 5 กลีบ ส่วนปลายกลีบม้วนลง ดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลืองติดอยู่ข้างในผนังหลอด
  • ผลจันทนา ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี สีเขียวเข้มและฉ่ำน้ำ พอแก่จะเป็นสีแดง ภายในผลมีเมล็ดจำนวนประมาณ 1-2 เมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : แก่น

สรรพคุณ จันทนา :

  • แก่น รสเย็นหอม บำรุงตับปอดและหัวใจ แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เหงื่อตกหนัก แก้รัตตะปิตตะโรค
    แก่นไม้  รสขมหวานบำรุงประสาท แก้ไข้ แก้ปอด ตับ ดี พิการ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เหงื่อตกหนัก ขับพยาธิ
  • เนื้อไม้   มีกลิ่นหอม  รสขมเย็น ใช้บด หรือฝน ผสมน้ำเป็นยาบำรุงหัวใจ  แก้ไข้  บำรุงเลือด และนำไปปรุงแต่งเป็นเครื่องหอม

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงเลือดลม บำรุงธาตุไฟ บำรุงประสาท แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ปอด ตับ และดีพิการ แก้ไข้ร้อน แก้ไข้กำเดา แก้อ่อนเพลีย โดยใช้แก่นของจันทนา ต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้รักษาโรคเลือดลมให้ใช้แก่นจันทร์ขาว (จันทนา) ร่วมกับแก่นจันทน์แดง รากชุมเห็ดเทศ รากหญ้าขัด รากชะเอม รกมะลืมดำ รากมะลืมแคบ รากมะกอกเผือก รากมะกอกฟาน รากผักหวานบ้าน เหง้าถั่วพู และกระดูกหมาดำ โดยนำมาฝนกับน้ำข้าวเจ้าใช้รับประทาน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้จันทนา เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาอาการของโรคต่างๆ ตามสรรพคุณนั้นควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่พอเหมาะไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้จันทนาเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

ถิ่นกำเนิดจันทนา

สำหรับถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของต้นจันทนา นั้น มีการระบุไว้ 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกเชื่อกันว่าจันทนามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียบังคลาเทศ และประเทศพม่า ส่วนอีกแนวทางหนึ่งเชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดในอินโดนีเซีย และติมอร์ ส่วนในประเทศไทยนั้นได้มีการนำพืชชนิดนี้เข้ามาปลูกเพื่อใช้เครื่องยาในภายหลัง โดยจะสามารถพบต้นจันทนาได้บริเวณป่าดิบแล้งทั่วไปที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ไม่เกิน 400 เมตร และพบได้มากทางภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน

Scroll to top