คำแสด

คำแสด

ชื่ออื่น : คำแสด
ชื่ออื่น :
คำเงาะ, คำแงะ, คำไทย, คำแฝด, คำแสด (กรุงเทพฯ), คำยง ซาตี (เขมร), จำปู้, ส้มปู, ชาด, ชิติหมัก (เลย), มะกายหยุม, แสด, หมากมอง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ  Lipstick tree , Anatto tree

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bixa orellana  L.
ชื่อพ้อง : Bixa americana Poir., B. katangensis Delpierre, B. odorata Ruiz & Pav. ex G.Do, B. purpurea Sweet, B. upatensis Ram.Goyena, Orellana americana
ชื่อวงศ์ : BIXACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : 

  • ต้นคำแสด ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-8 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหนาทึบ แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกลำต้นเรียบสีน้ำตาลปนเทา
  • ใบคำแสด ใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนรอบต้น รูปไข่หรือรูปหัวใจ กว้าง 8-10 เซนติเมตร ยาว 11-18 เซนติเมตร เส้นใบสีแดงออกจากฐาน โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบบางเกลี้ยง นุ่ม สีเขียวเหลือบแดง ใบอ่อนมีสีแดง ก้านใบยาว
  • ดอกคำแสด ออกเป็นช่อตั้งเป็นช่อเชิงหลั่น หรือช่อแยกแขนงบริเวณปลายกิ่ง ช่อหนึ่งมี  5-10 ดอก กลีบดอกรูปไข่ยาว สีขาวแกมชมพูหรือสีชมพูอ่อน กลีบรองดอกมีขนาดเล็ก สีเขียว 5 กลีบ และมีต่อมอยู่ที่ฐาน กลีบดอกมี 5 กลีบ แยกจากกัน ดอกอ่อนจะกลม ผิวสีแดง มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก อับเรณูโค้งงอ มีช่องเปิดด้านบน รังไข่มีขนรุงรัง มีเกสรตัวเมีย 1 อัน ภายในมีช่อง 1 ช่อง มีไข่อ่อนจำนวนมาก
  • ผลคำแสด ผลแห้งแตกเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลม มีขนสีแดงเข้มทึบยาวปกคลุม คล้ายผลเงาะ ผลแก่จัดแตกออก 2 ซีก ภายในมีเมล็ดกลมเล็ก สีน้ำตาลแดง จำนวนมาก เนื้อหุ้มเมล็ดมีสีแดงหรือสีแสด พบตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้ง

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ดอก, เปลือกราก, ราก, เปลือกต้น, ใบ, ผล, ขนจากเมล็ด, เมล็ด, เนื้อหุ้มเมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด

สรรพคุณ คำแสด :

  • ดอก รสหวาน บำรุงเลือดและน้ำเหลืองให้สมบูรณ์ รักษาโลหิตจาง รักษาอาการแสบร้อน คันตามผิวหนัง ระงับความร้อนในร่างกาย โรคบิด ไตพิการ แก้ดีพิการ แก้พิษ บำรุงสมอง บำรุงประสาท บำรุงหัวใจ เป็นยาสมานแผล บำรุงโลหิตระดู ขับระดู
  • เปลือกราก ลดไข้ ป้องกันไข้มาลาเรีย แก้โรคหนองใน 
  • ราก บำรุงเลือด แก้แสบร้อน คัน
  • เปลือกต้น บำรุงโลหิต แก้ไข้ทับระดู
  • ใบ รักษาอาการเจ็บคอ ลดไข้ รักษาบิด ขับปัสสาวะ แก้โรคดีซ่าน แก้งูกัด
  • ผล เป็นยาฝาดสมาน
  •  ขนจากผล ขับพยาธิ
  • เมล็ด รสร้อนเป็นยาหอม ยาฝาดสมาน สมานแผล แก้ไข้ แก้ลม รักษาโรคหนองใน ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ขับระดู แก้บิด แก้โรคผิวหนัง ไข้มาลาเรีย บำรุงโลหิต แก้ไข้ทับระดู รักษาพิษจากมันสำปะหลังและสบู่แดง ตำพอกหรือทาแก้ปวดบวม ตำพอกหัวหน่าวแก้ปวดมดลูกหลังคลอด
  • เนื้อหุ้มเมล็ด รสหวานร้อน เป็นยาระบายท้อง ขับพยาธิ รักษาโรคผิวหนัง และเป็นสีแต่งอาหาร หรือย้อมผ้า เป็นสีที่ไม่มีพิษ ให้สีแสด
  • น้ำมันจากเมล็ด รสร้อน ทาแก้อัมพฤกษ์อัมพาต แก้ขัดตามข้อ

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้คำแสด

  • ใช้บำรุงเลือด บำรุงน้ำเหลือง บำรุงประสาท บำรุงสมอง บำรุงโลหิตระดู บำรุงหัวใจ แก้บิด แก้ไตพิการ ดีพิการ โดยใช้ดอกคำแสด แห้งมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ชงแบบชาก็ได้
  • ใช้ลดไข้ บำรุงเลือด แก้หนองใน โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้บำรุงโลหิต ลดไข้ ขับปัสสาวะ แก้บิด แก้เจ็บคอ แก้ไข้ทับระดู แก้โรคดีซ่าน โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไข้ แก้ลม แก้หนองใน ขับปัสสาวะ ขับระดู ขับเสมหะ แก้บิด แก้ไข้ทับระดู โดยใช้เมล็ด มาทุบแล้วต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ปวดบวมตามร่างกาย แก้ปวดมดลูกหลังคลอง โดยใช้เมล็ดมาตำแล้วใช้พอก หรือ ทาบริเวณที่เป็น (กรณีปวดมดลูกให้พอกที่หัวหน่าว)
  • ใช้แก้ขัดตามข้อ แก้อัมพฤกษ์อัมพาต โดยใช้น้ำมันจากเมล็ด มาทาบริเวณที่เป็น

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้คำเงาะเป็นสมุนไพร เพราะมีสรรพคุณขับระดู ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
  2. ถึงแม้ว่าผลการศึกษาทางพิษวิทยาของคำแสด จะระบุว่า หรือ มีความเป็นพิษน้อยมากจนแทบไม่มีความเป็นพิษเลย ในขนาดการใช้ปกติในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามในการใช้คำเงาะเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่พอดีที่กำหนดไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้คำเงาะเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

ถิ่นกำเนิดคำแสด

คำเงาะ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนของประเทศแถบทวีปอเมริกาใต้ อเมริกากลาง แล้วจึงได้แพร่กระจายพันธุ์ไปยังทางเหนือ และใต้ เช่น บราซิล เม็กซิโก อาเจนตินา และทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาเป็นต้น ปัจจุบันพบแพร่กระจายทั่วโลกในประเทศเขตร้อน และอบอุ่น ในทวีปอเมริกาใต้ ประเทศในอเมริกากลาง และเอเชีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ว

Scroll to top