คำมอกหลวง

คำมอกหลวง

ชื่อสมุนไพร : คำมอกหลวง
ชื่ออื่นๆ :
ไข่เน่า(นครพนม), คำมอกช้าง(เหนือ), ผ่าด้าม, ยางมอกใหญ่(นครราชสีมา), แสลงหอมไก๋, หอมไก๋(ลำปาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gardenia sootepensis Hutch.
ชื่อวงศ์ : RUBIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นคำมอกหลวง เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบในช่วงสั้นๆ ก่อนออกดอก สูง 7-15 เมตร ทรงพุ่มกลมและโปร่ง แตกกิ่งน้อย กิ่งอ่อนเป็นรูปสี่เหลี่ยม และมีขน เปลือกสีเทาเข้มเรียบ แตกเป็นสะเก็ด มีน้ำยางเหนียวสีเหลืองข้นเป็นก้อนที่ปลายยอด เรือนยอดโปร่ง ลำต้นบิดงอ เปลือกต้นสีครีมอ่อนหรือเทา ค่อนข้างเรียบ หลุดลอกออกเป็นแผ่นบางๆ
  • ใบคำมอกหลวง ออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม สลับตั้งฉาก รูปวงรี รูปขอบขนานแกมไข่กลับ หรือรูปไข่กลับ กว้าง 12-18 เซนติเมตร ยาว 22-30 เซนติเมตร ปลายแหลมหรือมน โคนใบมน ขอบใบเรียบ ใบอ่อนสีชมพูอ่อน มีขนสีเงิน ใบแก่เขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างมีขนละเอียด เส้นใบข้าง 16-20 คู่ ตรงและขนานกันและโค้งจรดกันที่ขอบใบ เส้นแขนงใบเห็นชัดเจน เนื้อใบหนา แข็ง กรอบ ก้านใบยาว 1 เซนติเมตร มีหูใบเป็นปลอกรอบกิ่ง หูใบอยู่ระหว่างก้านใบ ก้านใบยาว 1 เซนติเมตร ร่วงหล่นง่ายทิ้งรอยแผลกลมๆตุ่มตารูปกรวยกว้าง ยอดอ่อนมีน้ำยางคล้ายขี้ผึ้งสีเหลืองหุ้มไว้ และเห็นชัดเจน
  • ดอกคำมอกหลวง เป็นดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ หรือตามปลายยอด ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-7 เซนติเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด หลอดกลีบดอกยาว 5-7 เซนติเมตร ทรงกระบอกแคบ ปลายแยก 5 พู แผ่ออก ยาว 3-4 เซนติเมตร บิดเป็นเกลียว ในดอกตูมก้านดอกยาว 1-1.5 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาวนวลเมื่อแรกบาน แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด กลิ่นหอม เกสรตัวผู้มี 5 อัน ไม่มีก้านชู เรียงสลับกับกลีบดอก บนปากหลอด โผล่พ้นปากหลอดกลีบดอกเพียงเล็กน้อย อับเรณูรูปขอบขนาน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบมี 1 ช่อง มีออวุลจำนวนมาก เกสรตัวเมียมี 1 อัน ปลายเกสรเพศเมียรูปกระบอง ก้านเกสรเพศเมียยาวโผล่พ้นปากหลอดกลีบดอก กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ติดกันเป็นหลอดขนาดยาว 1.2-2 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 2 แฉก ปลายเป็นพูเล็กๆด้านหนึ่งแยกลึก ด้านนอกมีขนละเอียดเหนียวๆ
  • ผลคำมอกหลวง ผลสด มีเนื้อ สีเขียวเข้ม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีดำ รูปกระสวยแกมไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ผิวมีปุ่มหูดกับช่องอากาศ กว้าง 1.8-2.5 เซนติเมตร ยาว 2.2-4 เซนติเมตร มีติ่งที่ปลายและสันตื้นๆ 5 สัน มีเนื้อและเมล็ดขนาดเล็กหลายเมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เนื้อไม้, เมล็ด, แก่น

สรรพคุณ คำมอกหลวง :

  • เนื้อไม้ ต้มน้ำดื่ม แก้บิด ถ่ายเป็นมูกเลือด
  • เมล็ด ต้มน้ำผสมเป็นยาสระผม ฆ่าเหา
  • แก่น ผสมกับแก่นมะพอก ต้มรวมกันให้หญิงอยู่ไฟอาบและใช้สระผม
Scroll to top