คงคาเดือด

คงคาเดือด

ชื่ออื่น ๆ : ตะไล, ช้างเผือก, คงคาเดือด, หมากเล็กหมากน้อย, ตะไลคงคา, สมุยกุย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Arfeuillea arborescens Pierre
ชื่อวงศ์ SAPINDACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นคงคาเดือด จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 8-20 เมตร ทรงพุ่มกลม มีเปลือกลำต้นเรียบสีน้ำตาลอ่อน มีช่องอากาศกระจายอยู่ และมีจุดขาวๆ ปกคลุม กิ่งอ่อนที่แตกใหม่จะมีสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลอ่อน
  • ใบคงคาเดือด ประกอบแบบขนนก ปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อยเรียงตรงข้ามหรือเยื้องกัน 4-5 คู่ ใบรูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง 2.5-4 เซนติเมตร ยาว 4.5-7 เซนติเมตร ปลายใบเป็นติ่งแหลมหรือเรียงแหลม โคนใบสอบหรือเบี้ยว ขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบบางสีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่างสากมือ เส้นแขนงใสบข้างละ 10-12 เส้น ก้านใบย่อยยาว 2-6 มิลลิเมตร
    คงคาเดือด
  • ดอกคงคาเดือด ดอก ออกเป็นแบบแยกเพศรวมต้นโดยช่อดอกจะออกแบบช่อกระจุกแยกแขนง บริเวณปลายกิ่งซึ่งช่อดอกจะยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร มีช่อย่อยยาว 2.4 เซนติเมตร ลักษณะม้วนเล็กน้อย กลีบดอกเป็นสีขาวมี 2-4 กลีบ เป็นรูปไข่กลับยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร จากฐานดอกมีเกสรเพศผู้ 6-9 อัน ก้านชูอับเรณู 6-9 มิลลิเมตร รังไข่มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด บริเวณยอดเกสรเพศเมียเรียบ ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปรีถึงรูปขอบขนาน หรือ แกมรูปไข่ยาว 5.5-9 มิลลิเมตร มีสีแดงอมเขียว
  • ผลคงคาเดือด เป็นผลแห้งแบบแคปซูล รูปทรงรี บางเกลี้ยงมีปีก 3 ปีก ปลายผล และขั้วผลแหลม ยาว 2.5-5 เซนติเมตร ส่วนปีกผลกว้าง 2 เซนติเมตร ผลสดเป็นสีเขียวพอแห้งจะเป็นสีน้ำตาล และจะแตกออกภายในมีเมล็ดสีดำ ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี หรือ รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 5-5.5 มิลลิเมตร มีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ขั้วเมล็ดมีขนาดเล็ก ไม่มีเยื่อหุ้ม

ส่วนที่ใช้เป็นยา :  ต้น, เปลือกต้น, เนื้อไม้, ใบ

สรรพคุณ คงคาเดือด :

  • ต้น ฆ่าพยาธิ แก้ไอ แก้ไข้
  • เปลือกต้น รสเย็นติดฝาดขม แก้ไอ แก้ไข้ แก้คัน เจริญอาหาร แก้ซางตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้แสบร้อนตามผิวหนัง
  • เนื้อไม้ รสเย็นฝาดขม ขับพยาธิ ฆ่าพยาธิผิวหนัง แก้ซางตัวร้อน ดับพิษไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ เจริญอาหาร
  • ใบ แก้ไอ แก้ไข้ ฆ่าพยาธิ
  • ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แก้พุพอง แก้น้ำเหลืองเสีย แก้โรคผิวหนังเปื่อยเน่

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ไข้ ดับพิษไข้ แก้ไอ แก้รอนในกระหายน้ำ ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ซางในเด็ก ใช้ฆ่าพยาธิ แก้แสบร้อนผิวหนัง โดยใช้เนื้อไม้ หรือ เปลือกต้นมาต้มน้ำดื่ม
  • ใช้แก้คัน ฆ่าพยาธิผิวหนัง แก้ไข้ แก้ไอ โดยใช้เปลือกต้นมาต้มน้ำอาบ
  • ใช้ฆ่าพยาธิ โดยใช้เนื้อไม้มาฝนกินกับน้ำอุ่น

คงคาเดือด ถูกนำมาใช้ประโยชน์ดังนี้ เนื้อไม้ถูกนำมาใช้ทำเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ในครัวเรือน ที่ร่มเงา หรือ เครื่องใช้ในการเกษตร ที่ไม่ค่อยเน้นความแข็งแรงเนื่องจากคงคาเดือดเป็นไม้เนื้ออ่อน

การขยายพันธุ์คงคาเดือด

คงคาเดือดสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีอาทิเช่น การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยม คือ การเพาะเมล็ด วิธีการเพาะเมล็ดคงคาเดือดสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ในธรรมชาติคงคาเดือดก็ขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดเช่นเดียวกัน โดยเมื่อผลแห้งก็จะแตกออกทำให้เมล็ดตกลงสู่พื้นดิน หรือ ลมอาจจะพัดผลแห้งตกลงบริเวณอื่นๆ แล้วจึงเกิดการงอกของเมล็ดต่อไป นอกจากนี้คงคาเดือดยังเป็นพรรณไม้ที่ชอบแสงแดด มีความทนทานต่อความแห้งแล้ง และสามารถทนได้ทุกสภาพดินอีกด้วย

Scroll to top