ข้าวเย็นใต้

ชื่อสมุนไพร : ข้าวเย็นใต้
ชื่ออื่นๆ :
ยาหัว(เลย,นครพนม), หัวยาข้าวเย็น(เพชรบูรณ์), ยาหัวข้อ(ภาคเหนือ), หัวยาจีนปักษ์ใต้(ภาคใต้), ข้าวเย็นโคกขาว, เสียนฝูหลิง, ควางเถียวป๋าเชี่ย(จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Smilax glabra Wall.ex Roxb.
ชื่อวงศ์ : SMILACACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ข้าวเย็นใต้ จัดเป็นเถาไม้เลื้อย มีเหง้า หัวอยู่ใต้ดินส่วน ลำต้น หรือ เถามีสีน้ำตาลแก่ ส่วนเหง้าใต้ดินมีลักษณะเป็นก้อน รูปร่างไม่แน่นอน ผิวเป็นหลุมลึกๆ หรือ อาจไม่เรียบ โดยจะพบก้อนแข็งนูน แยกออกมาจากเหง้าคล้ายแขนงสั้นๆ โดยเหง้าจะมีความกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร ผิวของเหง้าเป็นสีน้ำตาลออกเหลือง หรือ สีน้ำตาลเทา และอาจพบรอยแยกแตกเป็นร่องๆ บนผิวเปลือก สำหรับเนื้อในเหง้าเป็นสีขาวอมเหลือง มีรสมันกร่อยออกหวานเล็กน้อย


  • ใบข้าวเย็นใต้ ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ โคนใบมนปลายในแหลม ใบกว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาร 5-15 เซนติเมตร ใบมีขนาดบางด้านหน้าใบ ผิวมันมีเส้นตามความยาวของใบ 3 เส้น ที่สามารถมองเห็นได้ชัด ส่วนหลังใบมีสีอ่อนกว่าด้านหน้า และมีผลเหมือนแห้งสีขาว ส่วนก้านใบมีขนาดสั้น ยาวประมาณ 9-15 มิลลิเมตร


  • ดอกข้าวเย็นใต้  ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบ ซึ่งในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยมากถึง 20 ดอก โดยดอกย่อยมีสีเหลืองอมเขียวขนาดเล็ก ในดอกย่อยแต่ละดอกจะมีกลีบดอก 6 กลีบ ขนาดประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร และมีก้านดอกยาว 4-15 มิลลิเมตร


  • ผลข้าวเย็นใต้ ผลเป็นแบบผลสด รูปทรงกลม มีสีเขียว และเมื่อผลแก่จะกลายเป็นสีแดงออกดำ ซึ่งผลจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-7 มิลลิเมตร


ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, หัว, ใบ, ดอก และ ผล

สรรพคุณ ข้าวเย็นใต้ :

  • หัว  ใช้แก้มะเร็ง แก้เส้นพิการ แก้ไอ แก้ประดง แก้ไข้ตัวร้อน แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เบาหวาน ฆ่าเชื้อหนอง แก้กามโรค ดับพิษในกระดูก แก้ปัสสาวะพิการ แก้อักเสบในร่างกาย ฝีแผลเน่าเปื่อยพุพอง ทำให้แผลฝียุบแห้ง แก้เม็ดผื่นคัน แก้เคล็ดขับยอก แก้อัมพาต แก้คุดทะราด แก้ดับพิษในกระดูก
  • ราก แก้พุพอง แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ปัสสาวะพิการ แก้พยาธิในท้อง
  • ใบ แก้ปากบวมอักเสบ
  • ดอก แก้โรคผิวหนัง แก้คุดทะราด
  • ผล แก้ลมริดสีดวง

ข้อมูลเพิ่มเติม :

ตำรายาพื้นบ้าน ใช้แก้มะเร็ง บำรุงเลือด ลดปวด ในหญิงหลังคลอดบุตร ส่วนในตำรายาจีนระบุว่า ข้าวเย็นใต้มีรสหวาน ชุ่มชื่นสมดุล แสดงฤทธิ์ผ่านตับและกระเพาะอาหาร มีสรรพคุณขับไล่ความเย็น ระงับพิษช่วยให้ข้อเข่าทำงานเป็นปกติ ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไข้ เนื่องจากความเย็นชื้น ปวดข้อเข่า มีน้ำมูกไหล อาการปวดบวม เป็นฝีหนองบวมอาการบวมของต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณลำคอ อาการเป็นหิดคัน โรคซิฟิลิส อาการพิษจากปรอท อาการหดเกร็งของแขนและขา ปวดข้อและเอ็น

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้มะเร็ง เส้นเอ็นพิการ แก้ประดง แก้กามโรค ร้อนในกระหายน้ำ แก้น้ำเหลืองเสีย ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ปวดในหญิงหลังคลอด แก้อักเสบ ดับพิษในกระดูก โดยใช้เหง้าแห้งต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้บำรุงเลือด บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย โดยใช้เหง้าแห้งบดละเอียดผสมกับส้มโมงแล้วนำไปต้มจนน้ำแห้ง นำตะกอนที่เหลือมาผสมกับน้ำผึ้งปั้นกินวันละ 1 เม็ด
  • ใช้แก้ไอ โดยใช้หัวข้าวเย็นใต้ และหัวข้าวเย็นเหนือ อย่างละ 5 บาท นำมาต้มในหม้อดิน เติมเกลือทะเลเล็กน้อย ใช้ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า และเย็น
  • ใช้แก้ฝีทุกชนิด โดยใช้หัวข้าวเย็นใต้หัวข้าวเย็นเหนือ, กำมะถันเหลืองขันทองพยาบาทหัวต้นหนอนตายหยาก, กระดูกควายเผือก หนักอย่างละ 20 บาท เหง้าสับปะรด หนัก 10 บาทกระดูกม้า 4 บาทต้นพริกขี้หนูรวมราก 1 ต้นและผิวไม้รวก 3 กำมือ นำมาต้มกับน้ำในหม้อดิน ใช้ดื่มหลังอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 3 เวลา ส่วนในการใช้ตามสรรพคุณของแพทย์แผนจีนให้ใบในขนาด 15-60 กรัม

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ข้าวเย็นใต้ สมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดี ที่กำหนดไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้องรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้ข้าวเย็นเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

Scroll to top