ขี้ครอก

ขี้ครอก

ชื่อสมุนไพร : ขี้ครอก
ชื่ออื่น ๆ
 : ขี้ครอก, หญ้าผมยุ่ง, หญ้าอียู, ขี้คาก(ภาคเหนือ-พายัพ), ซัวโบ๋เท้า(จีน), เส้ง, ปูลู(ภาคใต้), ขี้ครอก (ไทยภาคกลาง), ขี้หมู (นครราชสีมา), ปอเส้ง (ปัตตานี), ขมงดง(สุโขทัย)
ชื่อสามัญ : Caesar weed, Hibiscus burr, Jute africain
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Urena lobata Linn.
ชื่อพ้อง : Urena americana L., Urena americana L. f., Urena diversifolia Schumach., Urena grandiflora DC., Urena monopetala Lour., Urena reticulata Cav., Urena tomentosa Blume, Urena trilobata
วงศ์ : MALVACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นขี้ครอก จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 0.5-2 เมตร แตกกิ่งในระดับต่ำ ลำต้นตั้งตรง สีเขียวแกมเทา เปลือกลำต้นเหนียว ตามลำต้นและกิ่งก้านมีขนลักษณะเป็นรูปดาวปกคลุม
  • ใบขี้ครอก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับตามกิ่งและลำต้น โดยใบที่อยู่บริเวณโคนต้นมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดกว้าง 5-6 เซนติเมตร และยาว 4-5 เซนติเมตร โคนใบกลม หรือ เว้าคล้ายรูปหัวใจ ส่วนปลายใบหยักเป็นแฉกแยกออกเป็นแฉกตื้นๆ 3 แฉก ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ส่วนใบที่อยู่บริเวณกึ่งกลางของลำต้นเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้าง 3-6.5 เซนติเมตร และยาว 5-7 เซนติเมตร ใบที่อยู่ส่วนยอด หรือ ใกล้ยอดจะเป็นรูปใบหอก กว้าง 1.5-3 เซนติเมตร และยาว 4-7 เซนติเมตร ผิวใบเป็นคลื่น เป็นสีเขียวมีลักษณะด้านบนมีขนขึ้นปกคลุม ส่วนด้านล่างมีขนรูปดาวสีขาวอมเทา ท้องใบด้านล่างจะมีสีอ่อนกว่าหลังด้านบนใบ และมีก้านใบยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร
  • ดอกขี้ครอก ดอกเป็นดอกเดี่ยวรูปไข่กลม ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ โดยดอกจะออกเป็นกระจุก ประมาณ 2-3 ดอก ลักษณะดอกจะมีริ้วประดับติดกัน คล้ายรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยาว 6 มิลลิเมตร และมีกลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก เช่นกันแต่จะมีขนาดสั้นกว่าริ้วประดับ ซึ่งกลีบเลี้ยง และริ้วประดับจะมีขนรูปดาวขึ้นปกคลุม ส่วนกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ มี 5 กลีบ สีชมพู ด้านนอกมีขนรูปดาวขึ้นปกคลุม ตรงกลางดอกเป็นสีชมพูเข้มถึงสีแดง มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 15 มิลลิเมตร ส่วนเกสรเพศเมียเป็นรูปทรงกระบอก และมีเรียวเล็ก ยาวพ้นหลอดเกสรเพศผู้ และจะแตกเป็น 10 แฉก เมื่อดอกบานจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และมีก้านดอกยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร
  • ผลขี้ครอก  เป็นผลแห้งมีลักษณะรูปกลมแป้น มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มีขนรูปดาวขึ้นปกคลุม ผิวผลมีหนามแข็งสั้น และมีน้ำเหนียวติด เมื่อผลแห้งจะแตกออกได้เป็นพู 5 พู โดยในแต่ละพูจะมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไตสีน้ำตาล มีขนาดกว้าง 2-2.5 มิลลิเมตร และยาว 3-4 มิลลิเมตร

สรรพคุณ ขี้ครอก :

  • ต้นและใบ ใช้ต้มรับประทาน เป็นยารักษาโรคไตพิการ และยังเป็นยาช่วยขับปัสสาวะด้วย
  • ใบ ใช้ต้มเป็นยาใช้จิบรักษาอาการไอ ดับพิษเสมหะ
  • ราก ใช้รับประทานเป็นยาเย้นใช้ถอนพิษไข้ทั้งปวง

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้กระจายเลือดลม แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไอ ขับเสมหะ ดับพิษเสมหะ ขับลมชื้นในร่างกายขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้มุตกิดตกขาวในสตรี แก้ไตพิการ น้ำเหลืองเสีย แก้นิ่ว แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยใช้ต้น และใบ มาตากแห้งใช้ประมาณ 15-30 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ แก้ไอเป็นเลือด โดยนำรากขี้ครอก แห้ง 15-30 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้บิด โดยใช้รากสด 500 กรัม  หั่นเป็นแว่นๆ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร เคี่ยวจนเหลือน้ำ ครึ่งลิตร แล้วนำไปรับประทาน วันละ 2 ครั้ง โดยเด็กอายุ 1-3 ขวบ ให้รับประทานวันละ 80 ซีซี เด็กอายุ 4-9 ปี ให้รับประทานวันละ 200 ซีซี ส่วนเด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป ให้รับประทานวันละ 250 ซีซี โดยแบ่งรับประทาน
  • ใช้แก้หนองใน โดยนำรากขี้ครอกผสมกับรากพญาดง ในปริมาณเท่ากัน โดยนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มเคี่ยวแล้วใช้ดื่ม

ถิ่นกำเนิดขี้ครอก

ขี้ครอก จัดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยสันนิษฐานว่าจะอยู่ในบริเวณเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงจีนตอนใต้ สำหรับในประเทศไทย พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณชายป่า หรือ ตามที่รกร้างว่างเปล่า แต่ในปัจจุบันมีการนำมาปลูกในสวนยาจีนหลายที่

การขยายพันธุ์ขี้ครอก

ขี้ครอกจัดเป็นไม้พุ่มที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดย การเพาะเมล็ด ในอดีตไม่นิยมนำขี้ครอกมาเพาะปลูกเนื่องจากเป็นพืชที่มีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว รวมถึงชื่อไม่เป็นมงคล และในบางพื้นที่จัดเป็นวัชพืชที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการนำมาเพาะปลูกกันบ้างแล้ว โดยมีการนำมาปลูกเพื่อใช้เป็นยาสมุนไพร สำหรับวิธีการปลูกขี้ครอก นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและปลูก ไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ในบทความก่อนหน้านี้

Scroll to top