ขี้กาขาว

ขี้กาขาว

ชื่อสมุนไพร : ขี้กาขาว
ชื่ออื่น ๆ 
: เถาขี้กา, ขี้กาเถา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gymnopetalum scabrum (Lour.) W. J. de Wilde & Duyfjes.
ชื่อวงศ์ CUCURBITACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นขี้กาขาว เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยตามพื้นดิน เถาจะกลมและโตขนาดเท่าก้านไม้ขีดหรือโตกว่าเล็กน้อย ตามข้อของเถาจะมีมือเกาะ
  • เถาและใบขี้กาขาว เป็นใบเดี่ยว การเกาะติดของใบบนกิ่งแบบเวียนและมีหนวดที่โคนก้านใบ ใบรูปหัวใจเว้าลึก ขนาดประมาณกว้างประมาณ 6-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-8 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนเว้าเป็นติ่งหู ขอบหยักบิดเป็นคลื่น แผ่นใบผิวหยาบสากเป็นลอนตามรอยกดเป็นร่องของเส้นใบ หลังใบมีขนสั้นสีขาวจำนวนมาก ก้านใบสีเขียวอ่อนแกมเหลืองยาว มีขนชนิดเดียวกัน
  • ดอกขี้กาขาว  ออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียเกิดบนต้นเดียวกัน. ดอกเพศผู้ ก้านดอกยาวประมาณ 4 เซนติเมตร กลีบรองกลีบดอก โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อยาว ปลายแยกออกเป็นแฉกรูปหอก 5 แฉก มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น กลีบดอก 5 กลีบ ติดกันที่โคนกลีบเพียงเล็กน้อย กลีบรูปไข่กลับ สีขาว มีเส้นสีเหลือง มีขน ดอกเพศเมีย ก้านดอกยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร กลีบรองกลีบดอกและกลีบดอก ลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่รูปขอบขนาน ภายในมี 1 ช่อง ท่อรังไข่ปลายแยกเป็นแฉกยาว รูปขอบขนาน 3 แฉก
  • ผลขี้กาขาว  ลักษณะผลทรงกลม ผิวเรียบ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว มีริ้วสีขาวจางๆ เมื่อแก่สีส้มแดง ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก  เมล็ดมีลักษณะ ทรงกลมรีแบนมีเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นเมือกใสสีเขียวเข้มเกือบดำ

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เถา, ใบสด, ผล, หัว

สรรพคุณ ขี้กาขาว :

  • เถา รสขม ใช้ปรุงเป็นยาบำรุงน้ำดี ลูกถ่ายแรงกว่าเถา บำรุงน้ำดี ล้างเสมหะ ดับพิษเสมหะและโลหิต รักษาตับปอดพิการ ใช้เถาต้มกับน้ำให้เดือดนาน ๆ ใช้เป็นยาฆ่าเลือดไรหิด และเหาได้
  • ใบสด รสขม ใช้ตำสุมกระหม่อมเด็กเวลาเย็น แก้หวัดคัดจมูก รักษาอาการคัดจมูกได้ดี ตำพอกฝี ทาแก้โรคผิวหนังอักเสบ ใช้ปรุงเป็นยา ขี้กาขาวจะใช้น้อยกว่าขี้กาแดง
  • ผล รสขมจัด แก้ตับปอดพิการ ถ่ายอุจจาระ ถ่ายเสมหะ ถ่ายพิษตานซาง
  • หัว รสขม บำรุงหัวใจ แก้ม้ามย้อย ตับโต หรืออวัยวะในช่องท้องบวมโต
  • ราก รสขม บำรุงน้ำดี แก้ไข้ ดับพิษไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้จุกเสียด บดทาฝีฝักบัว แก้ตับโต ม้ามย้อย อวัยวะในช่องท้องบวมโต

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. 2540. สารานุกรมสมุนไพร. โอเดียนสโตร์:กรุงเทพมหานคร.
  2. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. 2539. พจนานุกรม สมุนไพรไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4 .ประชุมทองการพิมพ์: กรุงเทพมหานคร.
  3. เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. (2522). ไม้เทศเมืองไทย สรรพคุณยาเทศและยาไทย. สำนักพิมพ์ เกษมบรรณกิจ : กรุงเทพมหานคร.
  4. อุทัย สินธุสาร.  (2545). สมุนไพร ร้านเจ้ากรมเป๋อ. พิมพ์ครั้งที่ 2 .โรงพิมพ์ธรรมสาร : กรุงเทพมหานคร.
Scroll to top