การะเกด

การะเกด

ชื่อสมุนไพร : การะเกด
ชื่ออื่นๆ
: การะเกดด่าง,  ลำเจียกหนู,  เตยดง, เตยด่าง, ลำเจียกหนู (ภาคกลาง), ปะหนัน, ปะแนะ (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pandanus tectorius Blume.
ชื่อวงศ์ : PANDANACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นการะเกด เป็นไม้พุ่มกึ่งยืนต้น รูปทรงคล้ายต้นเตย สูง 3-7 เมตร ที่ลำต้นมีหนามสั้นๆ ทู่ๆ ที่โคนต้นมีรากที่มีลักษณะยาว และใหญ่หลายรากค้ำต้นไว้หรือที่เรียกว่า “รากอากาศ”
  • ใบการะเกด ใบออกเป็นใบเดี่ยวลักษณะคล้ายใบสับปะรดยาว 1-2 เมตร ออกเวียนเรียงสลับกันเป็น 3 เกลียว ที่ปลายกิ่งแผ่นใบค่อยๆ เรียวแหลมไปหาปลายใบส่วนขอบใบมีหนานแข็งห่างๆ ยาวประมาณ 0.2-1 เซนติเมตร ด้านล่างของใบมีนวล
  • ดอกการะเกด ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้นกัน ออกตามปลายยอด มีจำนวนมาก ติดบนแกนของช่อ ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้ตั้งตรง ยาว 25-60 เซนติเมตร มีกาบสีนวลหุ้ม กลิ่นหอม เกสรเพศผู้ติดรวมอยู่บนก้านซึ่งยาว 0.8-2 เซนติเมตร ช่อดอกเพศเมียค่อนข้างกลม ประกอบด้วยเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน 3-5 อัน เป็นกลุ่ม 5-12 กลุ่ม แต่ละกลุ่มกว้าง 2-5 ซม. ยาว 3-7 เซนติเมตร ปลายหยักตื้นเป็นร่องระหว่างยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียเรียงเป็นวง
    การะเกด
  • ผลการะเกด ผลเบียดกันแน่นเป็นก้อนกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 10-20 เซนติเมตร แต่ละผลกว้าง 2-6.5 เซนติเมตร ยาว 4-7.5 เซนติเมตร เมื่อสุกหอม โคนสีเหลือง ตรงกลางสีแสด ตรงปลายยอดสีน้ำตาลอมเหลือง ผลที่สุกแล้วมีโพรงอากาศจำนวนมาก

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ดอก

สรรพคุณ การะเกด :

  • ดอก ปรุงยาหอม รสสุขุมหอม ปรุงเป็นยาหอม ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ บำรุงหัวใจ แก้โรคในอก เจ็บอก เช่น เจ็บคอ แก้เสมหะ บำรุงธาตุ อบกลิ่นเสื้อผ้าให้หอม
  • ยอด : ใช้ต้มกับน้ำให้สตรีดื่มหลังคลอดบุตรใหม่ๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม :

มีการใช้ประโยชน์จากการะเกด หลายประการ อาทิเช่น

  • ผลสุกใช้รับประทานได้ โดยจะมีรสเปรี้ยวอมหวานคล้ายกับสับปะรด
  • ดอก มีกลิ่นหอมใช้อบเสื้อผ้าให้มีกลิ่นหอม หรือ ใช้นำไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวใช้ใส่ผมในสมัยก่อน
  • ใบการะเกดนำมาจักสานเป็นเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เช่น กระเป๋า เสื่อ กระสอบและหมวก เป็นต้น

การะเกด จัดเป็นไม้พื้นบ้านของไทยชนิดหนึ่ง โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชีย เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา พม่า อินเดีย และศรีลังกา เป็นต้น นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนรวมไปถึงเกาะรีเวิร์ด เปอร์โตริโก เมซัมบิก หมู่เกาะวินด์เวิร์ด แทนซาเนีย และเยเมน เป็นต้น ซึ่งสามารถพบการะเกดได้ตามชายหาดทั่วไป และพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเล สำหรับในประเทศไทยนั้น เป็นที่รู้จักคุ้นเคยกับการะเกดกันมาแต่โบราณดังนั้นจะเห็นได้จากวรรณคดีไทยหลายเรื่อง ต่างมีบทชมสวนชมป่าบรรยายถึงต้นการะเกดทั้งสิ้น อีกทั้งในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเล พ.ศ.2416 ก็มีบรรยายถึงการะเกดไว้ว่า “การะเกด ดอกไม้สีเหลือง กลิ่นหอมดี ดูงาม ต้นเท่าด้ามพาย ใบเป็นหนาม ขึ้นอยู่ที่ดินเปียกริมน้ำ” อีกด้วย

Scroll to top