กานพลู

กานพลู

ชื่อสมุนไพร : กานพลู
ชื่ออื่น ๆ
: ดอกจันทร์ (เชียงใหม่), จันจี่ (ภาคเหนือ)
ชื่อสามัญ : Clove, Clove tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium aromaticum (L.) Merr.& L.M.Perry
ชื่อวงศ์ MYYRTACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกานพลู เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ สูง 5-15 เมตร เรือนยอดทึบ เป็นรูปกรวยคว่ำ แตกกิ่งต่ำ ลำต้นตั้งตรง เปลือกเรียบมีสีน้ำตาลอ่อน มีต่อมน้ามันมาก
  • ใบกานพลู ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม มีก้านใบเล็กเรียว ยาว 1-3 เซนติเมตร รูปใบขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 6-13 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม ขอบเรียบ โคนสอบเป็นรูปลิ่ม แผ่นใบด้านบนเป็นมัน ตอนล่างของใบมีต่อมจำนวนมาก ใบมีเส้นใบจำนวนมาก
    กานพลู

  • ดอกกานพลู ดอกออกเป็นช่อดอกสั้นๆ แทงออกบริเวณปลายยอดหรือง่ามใบบริเวณยอด ดอกแตกแขนงออกเป็นกระจุก 3 ช่อ มีจำนวน 6-20 ดอก ดอกมีใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาว 2-3 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีเขียวอมเหลือง และมีสีแดงประปราย โคนติดกันเป็นหลอดยาว 5-7 มิลลิเมตร กลีบดอก 4 กลีบ กลีบดอกมีรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ยาว 7-8 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมันมาก กลีบดอกมักร่วงง่าย ด้านในมีเกสรเพศผู้ ก้านชูเกสรยาว 3-7 มิลลิเมตร ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ยอดเกสรตัวเมียแบ่งเป็น 2 พู มีรังไข่ 2-3 ห้อง แต่ละห้องมีไข่จำนวนมาก


  • ผลกานพลู มีสีน้ำตาลเข้ม ผลของมันมีขนาดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีขนาดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.3-0.4 เซนติเมตร

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, เปลือกต้น, ดอก, ผล, น้ำมันกานพลู

สรรพคุณ กานพลู :

  • ใบ รสร้อน แก้ปวดมวน
  • เปลือกต้น รสร้อนปร่า แก้ปวดท้อง แก้ลม คุมธาตุ
  • ดอก รสเผ็ดร้อนปร่า เป็นยาแก้พิษโลหิต แก้ปวดท้อง แก้ลมเป็นเหน็บชา แก้พิษน้ำเหลือง แก้อุจจาระให้เป็นปกติ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ปวดฟัน แก้หืด ละลายเสมหะ ดับกลิ่นปาก เป็นต้น
    ดอกเมื่อตากแห้งแล้วจะเป็นสีแดงน้ำตาล นำมากลั่นใช้ 0.12 – 0.3 กรัม จะเป็นยาแก้ท้องขึ้น ธาตุพิการ ขับผายลมในลำไส้ เป็นยาบำรุง
  • ผล รสร้อนปร่า เป็นตัวช่วยให้มีกลิ่นหอม นิยมใช้เป็นเครื่องเทศในการประกอบอาหาร
  • น้ำมันกานพลู รสเผ็ดร้อนปร่า เป็นยาระงับการชักกระตุก แก้ปวดท้อง ขับผายลม และแก้อาการปวดฟัน ทำให้ผิวหนังชา

ข้อมูลเพิ่มเติม :

  • ตำรายาไทย: มีการใช้กานพลูในหลายตำรับ ตัวอย่างเช่น ใน ”พิกัดตรีพิษจักร” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีรสซึมซาบไวดังกงจักร  3 อย่าง มี ผลผักชีล้อม ผลจันทน์เทศ และกานพลู สรรพคุณแก้ลม แก้พิษเลือด แก้ธาตุพิการ บำรุงโลหิต ”พิกัดตรีคันธวาต” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีกลิ่นหอมแก้ลม  3 อย่าง มี ผลเร่วใหญ่ ผลจันทน์เทศ และกานพลู มีสรรพคุณ แก้ธาตุพิการ แก้ไข้อันเกิดแต่ดี แก้จุกเสียด
  • บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา มีการใช้กานพลู ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏในตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” โดยมีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ประกอบด้วย “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการท้องเสียที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ ตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีกานพลูเป็นองค์ประกอบหลัก และมีสมุนไพรชนิดอื่นๆในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ  ตำรับ “ยาเลือดงาม” มีส่วนประกอบของดอกกานพลู ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

วิธีและปริมาณที่ใช้ :

  • แก้อาการท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม และปวดท้อง
    ใช้ดอกกานพลูโตเต็มที่ ที่ยังตูมอยู่ 4-6 ดอก หรือ 0.25 กรัม
         *ผู้ใหญ่ – ใช้ทุบให้ช้ำ ชงน้ำดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว
        *เด็ก – ใช้ 1 ดอก ทุบแล้วใส่ลงในขวดนม
         *เด็กอ่อน – ใช้ 1 ดอก ทุบใส่ในกระติกน้ำที่ไว้ชงนม ช่วยไม่ให้เด็กท้องขึ้นท้องเฟ้อได้
  • ยาแก้ปวดฟัน
    ใช้นำมันจากการกลั่นดอกตูมของดอกกานพลู 4-5 หยด ใช้สำลีพันปลายไม้ จุ่มน้ำมันจิ้มในรูฟันที่ปวด จะทำให้อาการปวดทุเลา และใช้แก้โรครำมะนาดก็ได้ หรือใช้ทั้งดอกเคี้ยว แล้วอมไว้ตรงบริเวณที่ปวดฟันเพื่อระงับอาการปวด หรือใช้ ดอกกานพลูตำพอแหลกผสมกับเหล้าขาวเพียงเล็กน้อยพอแฉะใช้จิ้มหรืออุดฟันที่ปวด
  • ระงับกลิ่นปาก
    ใช้ดอกตูม 2-3 ดอก อมไว้ในปาก จะช่วยทำให้ระงับกลิ่นปากลงได้บ้าง

สารเคมี : Eugenol, Cinnamic aldehyde Vanillin น้ำมันหอมระเหย Caryophylla – 3(12)-6-dien-4-ol

Scroll to top