กระเจี๊ยบแดง

กลีบเลี้ยง รสเปรี้ยว ขับนิ่วในไต ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ขับเมือกมันให้ลงสู่ทวารหนัก แก้เสมหะ ขับปัสสาวะ ลดไข้ แก้ไอ แก้นิ่ว แก้กระหายน้ำ

กระเจี๊ยบแดง

ชื่อสมุนไพร : กระเจี๊ยบแดง
ชื่ออื่น ๆ
:  กระเจี๊ยบเปรี้ยว(ภาคกลาง), ส้มเก็งเค็ง, ผักเก็งเค็ง(ภาคเหนือ), ส้มปู(เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), ส้มตะเลงเครง(ตาก) ,ส้มพอเหมาะ
ชื่อสามัญ : Jamaican Sorrel, Rosella
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hibiscus sabdariffa Linn.
ชื่อวงศ์ : MALVACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกระเจี๊ยบแดง ไม้ล้มลุก ลักษณะลำต้นเป็นทรงพุ่ม อายุปีเดียว สูงประมาณ 1 – 2 เมตร ขนาดลำต้นประมาณ 1 – 2 ซม. แตกกิ่งก้านมากมายตั้งแต่โคนต้น เปลือกต้นเรียบ ต้นอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่ลำต้นและกิ่งก้านสีแดงเข้มหรือสีแดงอมม่วง เปลือกลำต้นบางเรียบ สามารถลอกเป็นเส้นได้
  • ใบกระเจี๊ยบแดง เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามความสูงของกิ่ง ลักษณะใบรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ยาวประมาณ 7 – 13 ซม. มีขนปกคลุมทั้งด้านบนด้านล่าง ขอบใบเป็นแฉกคล้ายนิ้วมือ 3 นิ้ว หรือเป็น 5 แฉก ระยะห่างระหว่างแฉก 0.5 – 3 ซม. ลึกประมาณ 3 – 8 ซม. มีหูใบเป็นเส้นเรียวยาว 0.8 – 1.5 ซม. โคนใบสอบเรียว ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบมน แต่ละแฉกมีรูปใบหอก ขอบใบเป็นจักฟันเลื่อย มีเส้นใบ 3 – 7 เส้น สีแดง ใบด้านล่างนูนเด่น โคนเส้นกลางใบด้านท้องใบมีต่อม 1 ต่อม แผ่นใบสีเขียวเกลี้ยง ก้านใบยาว 4 – 15 ซม. มีขนรูปดาวปกคลุม ใบที่มีอายุน้อย และใบใกล้ดอกจะมีขนาดเล็กรูปไข่
  • ดอกกระเจี๊ยบแดง เป็นดอกเดี่ยว ดอกแทงออกตามซอกใบตั้งแต่โคนกิ่งถึงปลายกิ่ง ดอกมีก้านดอกสั้น สีแดงม่วง ดอกมีกลีบเลี้ยง ประมาณ 5 กลีบ หุ้มดอกบนสุด มีขนาดใหญ่ มีลักษณะอวบหนา มีสีแดงเข้มหุ้มดอก และกลีบรองดอก ที่เป็นกลีบด้านล่างสุด มีขนาดเล็ก 8 – 12 กลีบ มีสีแดงเข้ม กลีบทั้ง 2 ชนิดนี้ จะติดอยู่กับดอกจนถึงติดผล และผลแก่ ไม่มีร่วง ดอกเมื่อบานจะมีกลีบดอกสีเหลืองหรือสีชมพูอ่อนหรือสีขาวแกมชมพู บริเวณกลางดอกมีสีเข้ม ส่วนของดอกมีสีจางลง เมื่อดอกแก่กลีบดอกจะร่วง ทำให้กลีบรองดอก และกลีบเลี้ยงเจริญขึ้นมาหุ้ม เกสรเพศผู้จำนวนมาก
  • ผลกระเจี๊ยบแดง เจริญจากดอก เป็นผลแห้งแตกได้ ลักษณะรูปรีปลายแหลมหรือรูปไข่ ยาวประมาณ 2.5 ซม. มีจงอยสั้นๆ มีจีบตามยาว และถูกหุ้มด้วยกลีบเลี้ยงสีแดงเข้ม ติดทนขนาดใหญ่รองรับอยู่จนผลแก่ มีขนหยาบๆ สีเหลืองปกคลุม
  • เมล็ดกระเจี๊ยบแดง ส่วนในของเมล็ดรูปไต เป็นสีน้ำตาลจำนวนมาก

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ยอด, ใบ, กลีบเลี้ยง, เมล็ด (ยอดและใบใช้สด กลีบเลี้ยงใช้ตากแห้ง และใบสด เมล็ด ใช้เมล็ดที่ตากแห้ง)

สรรพคุณ กระเจี๊ยบแดง :

  • ดอก ขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา
  • ใบ รสเปรี้ยว ขับเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร ทำให้โลหิตไหลเวียนดี ขับปัสสาวะ ขับเมือกในลำไส้ลงสู่ทวารหนัก แก้โรคพยาธิตัวจี๊ด
  • ยอดและใบ รสเปรี้ยว เป็นยาบำรุงธาตุ ยาระบาย ละลายเสมหะ ขับปัสสาวะ ช่วยย่อยอาหาร หรือต้มชะล้างบาดแผล หรือนำใบมาโขลกให้ละเอียดใบประคบฝี
  • กลีบเลี้ยง รสเปรี้ยว ขับนิ่วในไต ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ขับเมือกมันให้ลงสู่ทวารหนัก แก้เสมหะ ขับปัสสาวะ ลดไข้ แก้ไอ แก้นิ่ว แก้กระหายน้ำ ละลายไขมันในเส้นเลือด ชงกับน้ำรับประทานเพื่อลดความดัน ลดไขมันในเลือด ทำแยม
  • ผล รสจืด ลดไขมันในเส้นเลือด รักษาแผลในกระเพาะ แก้กระหายน้ำ บำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย และแก้อ่อนเพลีย
  • เมล็ด รสเมา ยาแก้อ่อนเเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ แก้โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ขับปัสสาวะ ขับน้ำดี ลดไขมันในเส้นเลือด ขับเหงื่อ เป็นยาระบาย และกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ
  • ทั้งห้า รสเปรี้ยว เป็นยาขับเมือกมันให้ลงสู่ทวารหนัก แก้พยาธิตัวจี๊ด
  • ทั้งต้น เป็นยาฆ่าตัวจี๊ด นำมาใส่หม้อต้ม น้ำ 3 ส่วน เคี่ยวไฟให้งวดเหลือ 1 ส่วน ผสมกับน้ำผึ้งครึ่งหนึ่ง รับประทานวันละ 3 เวลา หรือรับประทานน้ำยาเปล่าๆ จนหมดน้ำยา
ลดไขมันในเส้นเลือด
วิธีและปริมาณที่ใช้ : โดยนำเอากลีบเลี้ยง หรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง ตากแห้งและบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา (หนัก 3 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) ดื่มเฉพาะน้ำสีแดงใส ดื่มวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการขัดเบาและอาการอื่นๆ จะหายไป
สารเคมี
ดอก พบ Protocatechuic acid, hibiscetin, hibicin, organic acid, malvin, gossypetin
คุณค่าด้านอาหาร
น้ำกระเจี๊ยบแดง มีรสเปรี้ยว นำมาต้มกับน้ำ เติมน้ำตาล ดื่มแก้ร้อนใน กระหายน้ำ และช่วยป้องกันการจับตัวของไขมันในเส้นเลือดได้ และยังนำมาทำขนมเยลลี่ แยม หรือใช้เป็นสารแต่งสี ใบอ่อนของกระเจี๊ยบเป็นผักได้ หรือใช้แกงส้ม รสเปรี้ยวกำลังดี กระเจี๊ยบเปรี้ยวมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “ส้มพอเหมาะ” ในใบมี วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา ส่วนกลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีสารแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง น้ำกระเจี๊ยบแดงที่ได้สีแดงเข้ม สาร Anthocyanin นำไปแต่งสีอาหารตามต้องการ


เอกสารอ้างอิง

  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : พิมพลักษณ์, 2547.
  2. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้.  ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544.  ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม).  พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด.  2544
  3. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 25.
Exit mobile version