กกกันดาร

กกกันดาร

ชื่อสมุนไพร :         กกกันดาร
ชื่ออื่นๆ
:               กกเวียน, หญ้าแฝกดำ, หญ้าเวียน (อุบลราชธานี), หญ้ากงจักร, เข็มพ่อหม้าย, เส้นขนพันธุรัตน์, หญ้าขนตาช้าง, หญ้าเข็มนาฬิกา, หญ้าพุ่งชู้, หนวดฤาษี, หนวดเสือ
ชื่อสามัญ :            –
ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Fimbristylis insignis Thwaites.
ชื่อวงศ์ :                CYPERACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกกกันดาร เป็นพืชล้มลุก อายุหลายปี มีเหง้าสั้น หนา ไม่ค่อยแตกแขนงออกไป ลำต้นเป็นรูปสามเหลี่ยม เรียบเกลี้ยง สูงประมาณ 20 – 40 เซนติเมตร ออกเป็นกอแน่นต้นเดียว ไม่ออกรวมเป็นกระจุกกันหลายต้น

    กกกันดาร

  • ใบกกกันดาร มีลักษณะเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับรอบลำต้น มองเห็นเป็นวงใกล้พื้นดิน ใบบิดหมุนเป็นเกลียวที่ส่วนปลายคล้ายกงจักร แผ่นใบรูปแถบถึงรูปเคียว กว้าง 1 – 4 มิลลิเมตร ยาว 5 – 18 เซนติเมตร ปลายใบกลม หลังใบเป็นมันเกลี้ยง ขอบใบเรียบ เป็นคลื่น มีขนสาก ใบหนาคล้ายแผ่นหนัง แผ่นใบตอนโคนเป็นกาบหุ้มลำต้น กาบใบสีเขียวอ่อน

    กกกันดาร กกกันดาร

  • ดอกกกกันดาร มีลักษณะดอก เป็นช่อแบบช่อแยกแขนง รูปทรงกระบอกแบน ขนาด 2 – 4 เซนติเมตร อาจแยกออกได้ 3 – 5 แขนง ช่อย่อยแบบช่อเชิงลด แต่ละแขนงมีดอกย่อยมาก จำนวน 10 ดอก หรือ มากกว่า มีขนาดกว้าง 4 มิลลิเมตร ยาว 10 – 20 มิลลิเมตร รูปกระสวยแกมทรงกระบอก กาบช่อย่อย (glume) รูปไข่ สีน้ำตาลเข้ม เรียงซ้อนเหลื่อมกันเป็นวง รูปขอบขนาน ขนาดประมาณ 6 มิลลิเมตร ส่วนปลายเป็นติ่งหนาม ใบประดับเป็นเกล็ด 2 – 3 อัน ยอดเกสรเพศเมีย 3 อัน ก้านชูยอดเกสรเพศเมีย 3 อัน ขนาด 4 – 5 มิลลิเมตร ส่วนฐานพองออก ส่วนปลายมีขนครุย ไม่เชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้ 3 อัน รูปขอบขนาน ขนาด 2 มิลลิเมตร
  • ผลกกกันดาร มีลักษณะผล แห้งไม่แตก ขนาดเล็ก รูปสามเหลี่ยมกลับถึงรูปไข่กลับ กว้าง 0.8-1 มิลลิเมตร ยาว 1-1.25 มิลลิเมตร เปลือกแข็ง มีสามสัน ปลายตัด เมื่อแก่มีสีออกเทาดำ มีเมล็ดเดียว 

ส่วนที่ใช้เป็นยา  : ทั้งต้น 

สรรพคุณ กกกันดาร :

  • ทั้งต้น รสจืด ต้มน้ำดื่ม ขับปัสสาวะ ยาแก้อาการขัดเบา
    (อาการขัดเบา คือ ถ่ายปัสสาวะกะปริดกระปรอย (ออกมาทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง) รู้สึกปวดขัดหรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ โดยเฉพาะตอนถ่ายปัสสาวะสุด มักต้องเข้าห้องน้ำทุกชั่วโมงหรือชั่วโมงละหลายครั้ง มีอาการคล้ายถ่ายปัสสาวะไม่สุดอยู่ตลอดเวลา)

 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง กกกันดาร

  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. 2540. สารานุกรมสมุนไพร. โอเดียนสโตร์ : กรุงเทพมหานคร.
  2. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. 2552. เครื่องยาไทย 1.  ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ : กรุงเทพมหานคร.
  3. สมภพ ประธานธุรารักษ์, ทยา เจนจิตติกุล, ธนุชา บุญจรัส, วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล, วิชิต เปานิล, นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, อาทร ริ้วไพบูลย์. 2548. สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 5 สมุนไพรพื้นบ้านอีสาน. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน): กรุงเทพมหานคร.

ภาพประกอบ :

  • ชัยยยุทธ บุญฑริกรัตน์. (2550). กกลังกา. [Image]. จาก www.samunpri.com

Scroll to top