เครือปลาสงแดง

เครือปลาสงแดง

ชื่อสมุนไพร : เครือปลาสงแดง
ชื่ออื่นๆ :
เครือเจ็น, เครือซุด, เครือซุดแดง, ชัยสง, เครืออีโม้, เต่าไห้, เถาโก, เถายอดแดง, เถาวัลย์แดง, หัวขวาน, ปอเต่าไห้ , หุนน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ichnocarpus frutescens (L.) R. Br.
ชื่อพ้อง : Aganosma affinis (Roem. & Schult.) G.Don, Apocynum crassifolium Salisb., A. frutescens L., Ichnocarpus affinis (Roem. & Schult.) K.Schum.
ชื่อวงศ์ : APOCYNACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นเครือปลาสงแดง เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง ยาว 2-8 เมตร แตกกิ่งก้านมาก กิ่งอ่อนมีขนสั้นๆ เถาสีน้ำตาลแดง เถาอ่อนมีขนสีน้ำตาล ทุกส่วนมีน้ำยางขาว
  • ใบเครือปลาสงแดง เป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม แผ่นใบหนา เรียบ สีเขียวเข้ม มีขนตามเส้นใบ ใบรูปขอบขนานแกมใบหอก หรือรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 2.5-4.5 เซนติเมตร ยาว 7-11 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มถึงมน ขอบใบเรียบ หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนประปรายที่เส้นใบ เส้นใบหลัก 5-7 คู่ ก้านใบยาว 0.8-1.2 เซนติเมตร อาจพบขนหรือไม่มี
  • ดอกเครือปลาสงแดง ดอกช่อแยกแขนง มีกลิ่นหอมเย็นอ่อนๆ ดอกมีขนาดเล็ก ออกที่ซอกใบ และปลายกิ่ง ดอกย่อยจำนวนมาก 11-80 ดอก ก้านดอกย่อยยาว 2-3 มิลลิเมตร มีขนสั้นหนานุ่ม ก้านช่อดอกยาว 0.3-4.2 เซนติเมตร มีขนสั้นหนานุ่ม กลีบดอกสีขาว หรือสีเหลืองนวล กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด หลอดกลีบรูปถ้วย กว้าง 1.0-1.5 มิลลิเมตร ยาว 2.0-2.5 มิลลิเมตร ปลายแยก 5 กลีบ ปลายแฉกมน รูปไข่ กว้าง 1.5-2.0 มิลลิเมตร ยาว 2.0-2.5 มิลลิเมตร โดยด้านข้างของส่วนปลายกลีบจะยื่นยาวคล้ายหาง 2-3 มิลลิเมตร ขอบเป็นคลื่น มีขนอุยที่โคนแฉกด้านในและขนสั้นนุ่มตามขอบ ส่วนด้านนอกเกลี้ยง ทำให้มองเห็นขอบกลีบเป็นฝอยละเอียด กลีบดอกเรียงบิดเวียนขวา ใบประดับ 2 อัน รองรับช่อดอกย่อย รูปไข่ กว้าง 0.5 มิลลิเมตร ยาว 1.0-1.5 มิลลิเมตร ขอบเรียบ พบขนสีน้ำตาลแดงกระจายทั่วผิวด้านนอก ส่วนด้านในเกลี้ยง กลีบเลี้ยง หลอดกลีบรูปถ้วยสั้นๆ กว้าง 1.0-1.5 มิลลิเมตร ยาว 1.5 มิลลิเมตร ปลายแยกแฉกแหลม รูปไข่หรือคล้ายสามเหลี่ยม สีเขียว มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นสีน้ำตาลแดง เกสรเพศผู้สีเหลือง ผิวเกลี้ยง อับเรณูยาว 1 มิลลิเมตร ติดที่ฐาน โคนมน ปลายเรียวแหลม ซึ่งแตะล้อมรอบ ก้านและยอดเกสรเพศเมีย ก้านชูอับเรณูยาว 2-3 มิลลิเมตร อยู่สูงจากโคนหลอดดอกประมาณ 1 มิลลิเมตร เกสรเพศเมีย รังไข่เหนือวงกลีบ เกิดจาก 2 คาร์เพล แต่ละคาร์เพลมี 15-35 ออวุล รังไข่มีขนสั้นนุ่มและใสที่ผิวด้านบน โคนเชื่อมกัน ปลายแยก ก้านเกสรเพศเมียยาว 1 มิลลิเมตร เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียยาว 1 มิลลิเมตร เกลี้ยง สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน จานฐานดอก 5 อัน แยกกัน รูปไข่หรือคล้ายขวด ยาว 0.5-1.0 มิลลิเมตร โคนเชื่อมแตะรังไข่ ปลายมนหรือกลม เกลี้ยง สีขาวหรือขาวอมเหลือง
  • ผลเครือปลาสงแดง เป็นฝักคู่ รูปทรงกระบอก ปลายแหลม กว้าง 1.6-5 มิลลิเมตร ยาว 3-10.5 เซนติเมตร เมื่อฝักแห้งแตกตะเข็บเดียว เมล็ดสีน้ำตาล มีกระจุกขนสีขาวคล้ายเส้นไหมติดอยู่ที่ปลายเมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ทั้งต้น, ใบ

สรรพคุณ เครือปลาสงแดง :

  • ราก แก้เบาหวาน แก้อาหารไม่ย่อย แก้โรคผิวหนัง แก้อาการปวดเมื่อย
  • ทั้งต้น แก้วัณโรค แก้อาการเพ้อคลั่ง แก้ตาบอดกลางคืน แก้ลิ้นอักเสบ แก้อาการเลือดออกที่เหงือก แก้ไข้ ยาแก้ไอ แก้บิด แก้เนื้องอกในช่องท้อง แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้ม้ามโต แก้หิด แก้หัด บรรเทาอาการปวดจากแมลงกัด แก้อาการชัก
  • ใบ แก้อาการปวดศีรษะ ช่วยป้องกันฟันผุ แก้ไข้ แก้บาดแผล แก้หิด

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้บิด แก้ไข้ แก้ปัสสาวะขัด ปัสสาวะเป็นเลือด ช่วยขับปัสสาวะ โดยใช้ทั้งต้นเครือปลาสงแดง มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แก้อาหารไม่ย่อย ช่วยขับปัสสาวะโดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยใช้รากเครือปลาสงแดง ผสมรากตะโกน รากมะเฟือง เปรี้ยว และรากตีนนก ต้มกันน้ำดื่ม
  • ใช้แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้บาดแผลอักเสบ โดยใช้ใบสดมาตำให้แหลกแล้วประคบบริเวณที่เป็น

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

เครือปลาสงแดง เป็นพืชที่พบในไทยมานานแล้ว จึงมีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรกันตั้งแต่อดีต ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่ามีฤทธิ์ต่างๆ แต่ก็เป็นเพียงการศึกษาในสัตว์ทดลองยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์ ดังนั้นในการใช้เครือปลาสงแดงเป็นสมุนไพรนั้น จึงควรระมัดระวังในการใช้โดยการใช้ในขนาดที่พบดีที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื่อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้เครือปลาสงแดงเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

ถิ่นกำเนิดเครือปลาสงแดง

เครือปลาสงแดง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย และมีการกระจายพันธุ์ในบริเวณ จีนตอนใต้ อินเดีย ปากีสถาน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงทางตอนบนของออสเตรเลีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ตามบริเวณป่าทั่วไปทุกสภาพ หรือ ตามบริเวณที่รกร้างทั่วไป ที่มีความสูงไม่เกิน 850 เมตร จากระดับน้ำทะเล

Scroll to top