ฝาง

ฝาง

ชื่อสมุนไพร : ฝาง
ชื่ออื่น ๆ
: ฝางเสน(กลาง), ฝางส้ม(กาญจนบุรี), ง้าย(กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), หนามโค้ง(แพร่), โซปั้ก(จีน)
ชื่อสามัญ : Sappan
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Caesalpinia sappan Linn.
ชื่อวงศ์ : CAESALPINIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ฝาง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม้พุ่มหรือไม้พุ่มกึ่งไม้เถา ผลัดใบ สูง 5-13 เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็งและโค้งสั้น ๆ ทั่วไป ถ้าแก่นและเนื้อไม้มีสีแดงเข้ม รสขมหวาน เรียกว่า “ฝางเสน” ถ้าแก่นมีสีเหลืองส้ม รสฝาดขื่น จะเรียกว่า “ฝางส้ม”
  • ใบฝาง เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ แกนช่อใบยาว 20-40 ซม. มีช่อใบย่อย 8-15 คู่ แต่ละช่อใบ มีใบย่อย 5-18 คู่ เรียงตรงข้าม ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้าง 5-10 มม. ยาว 8-20 มม. ปลายใบกลมถึงเว้าตื้น โคนตัดและเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยงหรือมีขนประปรายทั้งสองด้าน ก้านใบสั้นมาก หรือไม่มีก้าน หูใบยาว 3-4 มม. ร่วงง่าย
  • ดอกฝาง เป็นช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ออกรวมกันเป็นช่อ ช่อยาวได้ถึง 40 ซม. ใบประดับรูปใบหอก ร่วงง่าย ยาว 5-8 มม. ปลายเรียวแหลมมีขน ก้านดอกย่อย ยาว 1.2-1.8 ซม. มีขนสั้นนุ่ม มีข้อต่อหรือเป็นข้อที่ใกล้ปลายก้าน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เกลี้ยง ขอบมีขนครุย ขอบกลีบเกยซ้อนทับกัน กลีบเลี้ยงกลีบล่างสุด ขนาดใหญ่สุด และเว้ามากกว่ากลีบอื่น กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง รูปไข่กลับ กว้าง 6-10 มม. ยาว 9-12 มม. ผิวและขอบกลีบย่น กลีบกลางขนาดเล็กกว่า มีก้าน  กลีบด้านในมีขนจากโคนไปถึงกลางกลีบ เกสรเพศผู้ 10 อัน แยกเป็นอิสระ ก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนสั้นนุ่ม มี 1 ช่อง มี ออวุล 3-6 เม็ด
  • ผลฝาง เป็นฝักรูปขอบขนาน แกมรูปไข่กลับ แบนแข็งเป็นจะงอยแหลม มีสีน้ำตาลเข้ม กว้าง 3-4 ซม. ยาว ฝาง5-8.5 ซม.ส่วนที่ค่อนมาทางโคนฝักจะสอบเอียงเล็กน้อย ด้านปลายฝักจะผายกว้างและมีจะงอยแหลมที่ปลายด้านหนึ่ง

 

 

  • เมล็ดฝาง มี 2-4 อัน รูปรี กว้าง 0.8-1 ซม. ยาว 1.5-1.8 ซม.
  • พบตามป่าละเมาะ เขาหินปูน ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ออกดอกระหว่างเดือนมิถุนายน-ธันวาคม และเป็นผลระหว่างเดือนสิงหาคมถึงพฤษภาคม

ส่วนที่ใช้เป็นยา : แก่น (เลือกที่มีสีแดงเข้มที่สุด)

สรรพคุณ ฝาง :

  • แก่น รสฝาด เค็ม ชุ่ม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและตับ เป็นยาบำรุงโลหิตสตรี ใช้เป็นยาแก้ปวด แก้บวม แก้เลือดอุดตัน ทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก รักษาประจำเดือนมาไม่ปกติ  ขับระดู แก้อาการหัวใจขาดเลือด (จุกเสียดแน่นและเจ็บหน้าอก) กระจายเลือดที่อุดตัน ลดการปวดมดลูกในสตรีหลังคลอด เป็นยาสมานลำไส้ แก้บิด ฟกช้ำดำเขียว ปวดบวม ขับหนองในฝีอักเสบ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ปวดเมื่อยร่างกาย แก้เสมหะ แก้โลหิต แก้ไข้กำเดา แก้ปอดพิการ ขับหนอง ทำให้โลหิตเย็น แก้ท้องร่วง แก้ธาตุพิการ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้โลหิตออกทางทวารหนักและทวารเบา แก้กำเดา แก่นฝางฝนกับน้ำเป็นยาทาภายนอกในโรคผิวหนังบางชนิด เพื่อฆ่าเชื้อโรค
  • น้ำต้มแก่น ให้สีแดง ใช้เป็นหลักในการทำน้ำยาอุทัย ใช้แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำได้ดี
  • เนื้อไม้ เป็นส่วนผสมหลักในยาบำรุงหลังคลอดบุตร ผสมกับปูนขาว บดทาหน้าผากหลัง คลอดบุตร ช่วยให้เย็นศีรษะ และลดอาการเจ็บปวด  เป็นยาขับระดูอย่างแรง แก้ท้องร่วง แก้ธาตุพิการ แก้ร้อนใน แก้โลหิตออกทางทวารหนักและทวารเบา แก้โลหิตตกหนัก แก้เสมหะ ดี และโลหิต
  • ราก ให้สีเหลือง ใช้ทำสีย้อมผ้า และไหม ใช้เป็นสีผสมอาหาร และเครื่องดื่ม
Scroll to top