ควายเผือก

ควายเผือก

ควายเผือก

ชื่อสามัญว่า Albino buffalo
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Bubalus bubalis
จัดอยู่ในวงศ์  Bovidae

เป็นสัตว์วัตถุที่นำมาใช้ทำยา อยู่ในกลุ่ม “สัตว์บก” คือ สัตว์ที่อาศัยอยู่บนบก และหากินบนบก

ส่วนที่ใช้เป็นยา : กระดูก, น้ำนมควาย, เขาควาย

สรรพคุณ ควายเผือก :

  • กระดูก สรรพคุณ แก้โรคอันบังเกิดจากกระจำพิษน้ำเหลือง แผลกลาย กาม โรคเข้าข้อออกดอก

แพทย์แผนไทยรู้จักใช้น้ำนมควาย เขาควายเผือก และกระดูกควายเผือก เป็นเครื่องยา ดังนี้

  1. น้ำนมควาย ได้จากเต้านมของควายบ้านเพศเมียที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ตำรายาสรรพคุณโบราณว่า
    *น้ำนมกระบือ รสหวาน ร้อน มีสรรพคุณ แก้พรรณดึก ทำให้เจริญอาหาร โบราณใช้น้ำนมกระบือ เป็นทั้งยากระสายยา และเครื่องยา ยาขนานที่  ๖๖ ใน ตำราพระโอสถพระนารายณ์ เข้า “น้ำนมกระบือ” (น้ำนมควาย) เป็นเครื่องยาอย่างหนึ่ง ร่วมกับ  “น้ำนมแกะ” และเครื่องยาอย่างอื่นอีกหลายอย่าง
  2. เขาควาย ตำรายาสรรพคุณโบราณว่า เขาควาย รสเย็น สรรพคุณ แก้สรรพพิษ แก้ร้อนใน ถอนพิษ แก้พิษไข้ เป็นต้น พระคัมภีร์ปฐมจินดาร์ให้ยาขนานหนึ่ง เข้า “เขากระบือเผือก” (เขาควายเผือก) เป็นเครื่องยาด้วย ดังนี้ อันว่าลักษณะกุมารกุมารีผู้ใด เกิดมาในวันจันทร์ วันพุธ คลอดเวลาเช้าเวลาเที่ยงก็ดี   ครั้นมารดาออกจากเรือนไฟแล้วประมาณ ๓ เดือน จึงตั้งกำเนิดทรางน้ำทรางสะกอเจ้าเรือน เมื่อจะบังเกิดนั้น คือตั้งแต่ลำคอถึงเพดานลุปากจำพวกหนึ่ง จำพวกหนึ่งกินนอกไส้ขึ้นมาจนถึงลิ้น จึงกระทำให้ลงแดง ให้กระหายน้ำ ให้เชื่อม ถ้าแพทย์วางยาชอบกุมารผู้นั้น จึงจะได้ชีวิตคืน ถ้าจะแก้ท่านให้เอา เขากระบือ ๑ เขาเบ็ญกานี ๑  สีเสียดทั้ง ๒  ดอกบุนนาค ๑ เกสรบัวหลวง น้ำประสานทอง ๑  กระเทียม ๑  รวมยา  ๘  สิ่งนี้เอาเสมอภาค ทำเป็นจุณบดทำแท่ง ละลายน้ำจันทร์กิน แก้ลงท้องเพื่อทรางน้ำ พระคัมภีร์ไกษยให้  “ยาประจำธาตุไกษยปลวก” ขนานหนึ่ง เข้า  “เขาควาย” เป็นเครื่องยาด้วย  ดังนี้ ยาประจำธาตุไกษยปลวก เอาเขาควายเผา ๑  ผลสบ้าเผา ๑ ปูนแห้งข้างเตาเผา ๑  สิ่งละ  ๑ ส่วน  พริกไทย  ๓  ส่วน ตำเป็นผงบดทำแท่งไว้ละลายน้ำปูนใสกิน แก้ไกษยปลวก และเจริญธาตุให้เป็นปรกติวิเศษนัก ยาจีนใช้เขาควายแก้อาการหมดสติ   และในโรคติดเชื้อแบบฉับพลันที่ทำให้มีไข้สูง และอาการเลือดออกเนื่องจากความร้อนภายใน
  3. กระดูกควาย ยาไทยนิยมใช้  “กระดูกควายเผือก”  เป็นเครื่องยาอย่างหนึ่ง เช่น ยาแก้โรคเรื้อนกินกระดูก ใน พระคัมภีร์ร์ชวดาร ดังนี้ ยาต้มแก้โรคเรื้อนกินกระดูกให้ขัดในข้อ   เอากระดูกช้าง  ๑   กระดูกแพะ  ๑   กระดูกกระบือเผือก  ๑   กระดูกสุนักข์ดำ  ๑  เถาโคคลาน  ๑  ป่าช้าหมอง  ๑  หญ้าหนวดแมว  ๑  ข้าวเย็นเหนือ  ๑  ข้าวเย็นใต้  ๑  ยาทั้งนี้เอาเสมอภาค   ดองสุราก็ได้   ต้มก็ได้รับประทานแก้พยาธิแลโรคเรื้อน
Scroll to top