คัมภีร์โรคนิทาน

ในคัมภีร์พระบรมอรรถธรรม ว่าด้วยคนจะถึงความมรณะสิ้นอายุ เทวทูตในธาตุทั้ง 4 ก็สำแดงออกมาให้ปรากฏโดยมโนทวารอินทรีย์ ธาตุ อันใดจะขาด จะหย่อน จะพิการ อันตรธานประการใดก็ดี มีแจ้งอยู่ในคัมภีร์มรณะญาณสูตรแล้ว 
ความมรณะ แบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ 
1. มรณะด้วยโบราณโรค 
2. มรณะด้วยปัจจุบันโรค
1. มรณะด้วยโบราณโรค คือ ตายโดยปกติ ตายโดยลำดับขันธ์ชวนะเร็ว ธาตุทั้ง 4 ล่วงไปตามลำดับ โดยกำหนดสิ้นอายุปริโยสานเป็นปกติ ธาตุทั้ง 4 อันตรธานสูญหายเป็นลำดับกันไป คือ
  • ธาตุดิน 20
  • ธาตุน้ำ 12
  • ธาตุลม 6
  • ธาตุไฟ 4
เมื่อจะอันตรธานนั้นหาสูญพร้อมกันทีเดียวทั้ง 4 ธาตุก็หาไม่ ย่อมสูญไปขาดไป แต่ละ 2 สิ่ง 3 สิ่ง 4 สิ่งก็มี บางทีธาตุดินขาดก่อนธาตุน้ำ ธาตุลมขาดก่อนธาตุไฟ และเมื่อจะสิ้นอายุ ดับสูญนั้น
  • ปถวีธาตุ 20 ขาดไป 19 หทยัง ยังอยู่
  • อาโปธาตุ 12 ขาดไป 11 น้ำลาย ยังอยู่
  • วาโยธาตุ 6 ขาดไป 5 ลมหายใจเข้าออกยังอยู่
  • เตโชธาตุ 4 ขาดไป 3 ไฟอุ่นกายยังอยู่
ถ้าธาตุทั้งหลายสูญสิ้นไปดังกล่าวมานี้ อาการตัดทีเดียว รักษาไม่ได้ หากธาตุทั้ง 4 หย่อนไป แต่ละสิ่ง สองสิ่ง ก็ยังรักษาได้

2. มรณะด้วยปัจจุบันโรค คือโอปักกะมิกาพาธ ถูกทุบถองโบยตีบอบช้ำ และต้องราชอาญาของพระมหากษัตริย์ ให้ประหารด้วยหอก ดาบ ปืน ไฟ ก็ตายอุจเดียวกัน 

 ธาตุทั้ง 4 พิการตามฤดู

1. เตโชธาตุพิการ เตโชธาตุชื่อสันตัปปัคคีพิการ (เดือน 5, 6, และ 7)
อาการให้เย็นในอก กินอาหารพลันอิ่ม มักให้จุกเสียด ขัดอก อาหาร พลันแหลก มักอยากบ่อย จึงให้เกิดลม 6 จำพวก คือ
  1. ลมอุตะรันตะ         พัดแต่สะดือถึงลำคอ
  2. ลมปิตตะรันตะ       ให้ขัดแต่อกถึงลำคอ
  3. ลมอัสวาตะ            ให้ขัดจมูก
  4. ลมปรามาศ            ให้หายใจขัดอก
  5. ลมอนุวาตะ            ให้หายใจขาดไป
  6. ลมมหาสดมภ์        ลมจับนิ่งไป 
2. วาโยธาตุพิการ (เดือน 8, 9, และ 10)
อาการให้ผอมเหลือง ครั่นตัว เมื่อยทุกข้อ ทุกลำ ให้แดกขึ้นแดกลง ลั่นโครก มักให้หาวเรอ ให้วิงเวียนหน้าตา หูหนัก ร้อนในอก รันทดรันทวยกาย หายใจสั้น ให้เหม็นปาก หวานปากตัวเอง โลหิตออกจากปาก จมูก หู กินอาหารไม่รู้รส
3. อาโปธาตุพิการ (เดือน 11, 12, และ 1) กินผัก และอาหารทั้งปวงผิดสำแดง
  1. ดีพิการ            มักขึ้งโกรธ มักสะดุ้งใจ
  2. เสมหะพิการ    กินอาหารไม่รู้รส
  3. หนองพิการ     มักให้เป็นหืด ไอ
  4. โลหิตพิการ      มักให้คลั่ง เพ้อพก ให้ร้อน
  5. เหงื่อพิการ       มักให้เซื่อมซึม
  6. มันข้นพิการ     มักให้ตัวชาสากไป
  7. น้ำตาพิการ       มักให้ปวดศีรษะ เจ็บตา
  8. มันเหลวพิการ  มักให้บวมมือ บวมเท้า เป็นน้ำเหลืองตก มักให้ผอมแห้ง
  9. น้ำลายพิการ     มักให้เป็นไข้ มักให้คอแห้ง และฟันแห้ง
  10. น้ำมูกพิการ      มักให้ปวดศีรษะ
  11. ไขข้อพิการ       มักให้เมื่อยทุกข้อทุกกระดูก
  12. มูตรพิการ       ให้ปัสสาวะแดง ขัดปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นโลหิต ปวดเจ็บเนืองๆ

4. ปถวีธาตุพิการ (เดือน 2, 3, และ 4) เป็นด้วยนอนผิดเวลา
    1. ผมพิการ     ให้คันศีรษะ มักเป็นรังแค ให้เจ็บหนังศีรษะเนืองๆ
    2. ขนพิการ       มักให้เจ็บทั่วสรรพางค์กาย ทุกขุมขน ให้ขนลุกพอง ทั้งตัว
    3. เล็บพิการ     มักให้เจ็บต้นเล็บ ให้ต้นเล็บเขียว ต้นเล็บดำ ช้ำโลหิต ให้เจ็บๆ เสียวๆ นิ้วมือ นิ้วเท้า
    4. ฟันพิการ      มักให้เจ็บไรฟัน บางทีให้เป็นฝี รำมะนาด บางทีให้เป็นโลหิตไหลออกทางไรฟัน ให้ฟันคลอน ฟันโยก ฟันถอนออก
    5. หนังพิการ   ให้ร้อนผิวหนัง ทั่วสรรพางค์กาย บางทีให้เป็นผื่นดุจเป็นผด ให้แสบร้อนอยู่เนืองๆ
    6. เนื้อพิการ    มักให้นอนสะดุ้ง ไม่หลับสนิท มักให้ฟกบวม บางทีให้เป็นวง ผุดขึ้นเป็น หัวดำ หัวแดง  หัวเขียวทั้งตัว บางทีเป็น ดุจลมพิษ สมมุตว่าเป็นประดง เหือด หัด ต่างๆ
    7. เอ็นพิการ     มักให้เจ็บสะบัดร้อน สะท้านหนาว ให้ปวดศีรษะ ท่านเรียกว่า ลม อัมพฤกษ์กำเริบ
    8. กระดูกพิการ ทำให้เมื่อยขบ ทุกข้อ ทุกกระดูก
    9. สมองกระดูกพิการ  ทำให้ปวดศีรษะเนืองๆ
    10. ม้ามพิการ      มักให้ม้ามหย่อน
    11. หฤทัยพิการ   ทำให้คลุ้มคลั่งดุจเป็นบ้า ถ้ามิฉะนั้น ให้หิวโหย หาแรงมิได้ ให้ทุรนทุรายยิ่งนัก
    12. ตับพิการ        ให้ตับโต ตับทรุด เป็นฝีในตับ และตับพิการต่างๆ
    13. พังผืดพิการ    ให้เจ็บ ให้อาเจียน จุกเสียด กลับเข้าเป็นเพื่อลม
    14. ไตพิการ         มักให้ปวดท้อง แดกขึ้นแดกลง ปวดขบอยู่เนืองๆ
    15. ปอดพิการ     มักให้ปวดศีรษะเป็นพิษ กระหายน้ำอยู่เนืองๆ
    16. ไส้ใหญ่พิการ  มักให้สะอึก ให้หาว ให้เรอ
    17. ไส้น้อยพิการ   มักให้ผะอืด ผะอม ท้องขึ้นท้องพอง มักเป็นท้องมาร กระษัย บางทีให้ลงท้อง ตกมูกเลือด เป็นไปต่างๆ
    18. อาหารใหม่พิการ  มักให้ลงท้อง ลงแดง มักให้อาเจียน และมักให้เป็นป่วง 7 จำพวก
    19. อาหารเก่าพิการ    มักให้กินอาหารไม่รู้รส เป็นต้น ที่จะให้เกิดโรคต่างๆ เพราะอาหารแปลกสำแดง
    20. มันสมองพิการ    ให้ปวดศีรษะ ให้ตาแดง ให้คลั่ง เรียกสันนิบาตต่อกันกับลม

ลักษณะเตโชธาตุแตก

  1. เตโชธาตุ ชื่อปริณามัคคีแตกให้ขัดในอกในใจ ให้บวมมือ บวมเท้า ให้ไอ เป็นมองคร่อ
  2. เตโชธาตุชื่อ ปริทัยหัคคีแตกมักให้มือเท้าเย็น ชีพจรไม่เดิน บางทีให้ตัวเย็นดุจน้ำ แต่ภายในร้อน ให้รดน้ำอยู่มิได้ขาด บางทีให้ตัวเย็น และให้เสโทตกดุจเมล็ดข้าวโพด
  3. เตโชธาตุ ชื่อชีรณัคคีแตกคือความชรานำพญามัจจุราช มาเล้าโลมสัตว์ทั้งปวง จะให้ชีวิตออก จากร่างกายนั้น ก็ให้คนไข้มีกายวิปริตต่างๆ คือ ให้หน้าผากตึง ตาไม่รู้จักหน้าคน แล้วกลับรู้จักอีก กายนั้นสัมผัสสิ่งใด ก็ไม่รู้สึกตัว แล้วกลับรู้สึกอีก
  4. ตโชธาตุชื่อ สันตัปปัคคีแตกเมื่อใด แก้ไม่ได้ ตายแล

ลักษณะวาโยธาตุแตก

  1.  ลมอุทธังคมาวาตาแตกมักให้ดิ้นรน มือเท้าขวักไขว่ ให้พลิกตัวไปมา ทุรนทุราย ให้เรอบ่อยๆ
  2.  ลมอโธมาวาตาแตกให้ยกมือยกเท้าไม่ได้ ให้เมื่อยขบทุกข้อทุกกระดูก ให้เจ็บปวดยิ่งนัก
  3.  ลมกุจฉิสยาวาตาแตกมักให้ท้องขึ้นท้องลั่น ให้เจ็บในอก ให้สวิงสวาย ให้แดกขึ้นแดกลง
  4.  ลมโกฏฐาสยาวาตาแตกให้เหม็นคาวคอ ให้อาเจียน ให้จุกเสียด ให้แดกในอก
  5.  ลมอังคมังคานุสารีวาตาแตกให้หูตึง เจรจาไม่ได้ยิน แล้วเป็นดุจหิ่งห้อยออกจากตา ให้เมื่อยต้นขาทั้งสองข้างดุจกระดูกจะแตก ให้ปวดในกระดูกสันหลัง ให้สะบัดร้อนสะบัดหนาว อาเจียนลมเปล่า กินอาหารไม่ได้
  6.  ลมอัสสาสะปัสสาสะวาตาแตจะได้ขาดสูญหามิได้ ถ้าสิ้นลมหายใจแล้วเมื่อใด ก็ตายเมื่อนั้น

ลักษณะธาตุอาโปแตก

  1.  ดีแตกทำให้คนไข้คลั่งไคล้ไหลหลง ละเมอเพ้อพก นอนสะดุ้งหวาดหวั่น บางทีให้ลงดุจกินยารุ ให้ลงเขียว ลงแดง ลงเหลืองออกมา ทำให้หาสติมิได้
  2. เสมหะแตกให้จับสะบัดร้อนสะบัดหนาวเป็นเวลา บางทีให้ลงท้องเป็นเสมหะ เป็นโลหิตเน่า ให้ปวดมวน
  3. หนองแตกทำให้ไหลออกมาเนืองๆ ให้กายซูบผอม กินอาหารไม่รู้รส มักเป็นฝีภายใน 7 ประการ
  4. โลหิตพิการ หรือแตกแพทย์สมมุติว่าไข้กำเดา เพราะโลหิตกำเริบ ถ้าแตกก็เป็นพิษต่างๆ ผุดขึ้น มาภายนอก แพทย์สมมุติว่าเป็นรากสาด ข้าวไหม้ใหญ่ ข้าวไหม้น้อย เปลวไฟฟ้า ประกายเพลิง ลำลาบเพลิง ที่เรียกชื่อต่างๆ เพราะโลหิตกระจายแตกซ่านออกผิวเนื้อ ส่วนข้างในก็กระทำพิษต่างๆ บางทีให้อาเจียนเป็นโลหิต บางทีโลหิตแล่นเข้าจับหัวใจ ให้คลั่งเพ้อหาสติมิได้ บ้างก็ว่าสันนิบาตโลหิต เป็นเพื่อโลหิตสมุฏฐาน บางทีให้ชักเท้าหงิกมือกำ บางทีให้หนาว ให้ร้อน บางทีให้ขัดปัสสาวะ ให้น้ำปัสสาวะ เป็นสีดำ แดง ขาว เหลือง เป็นไปต่างๆ ธาตุถ้าแตกตั้งแต่ 2-5 อย่างจะแก้ไม่ได้โดยเร็วพลันใน 2-3 วัน ถ้าเป็นตั้งแต่ 1 หรือ 2 ให้แก้ดูก่อนที่โลหิตแตกซ่านออกมาถึงผิวเนื้อนั้น ท่านให้ประกอบยาที่แก้ไข้เหนือ แก้ที่โลหิตทำภายในให้โลหิตมาก ท่านให้ประกอบยาที่แก้ลักปิด แก้เถิด 
  5. เหงื่อ ถ้าแตก ให้เหงื่อตกหนัก ให้ตัวเย็นขาวซีด ให้สวิงสวาย หากำลังมิได้
  6. น้ำตา ถ้าแตกหรือพิการให้ตามัว ให้น้ำตาตกหนัก ตาแห้ง ตานั้นเป็นดุจเยื่อผลลำไย
  7. มันเหลว ถ้าแตกกระจายออกทั่วสรรพางค์กาย ทำให้ตัวเหลือง ตาเหลือง เว้นแต่อุจจาระ ปัสสาวะไม่เหลือง บางทีให้ลงท้อง ให้อาเจียน ดุจเป็นป่วงลง เพราะโทษน้ำเหลือง
  8. น้ำลาย ถ้าแตกหรือพิการน้ำลายเหนียว บางทีเป็นเม็ดยอดขึ้นในลิ้นในคอ
  9. น้ำมูก เมื่อพิการหรือแตกให้ปวดในสมอง ให้น้ำมูกตก ให้ตามัว ให้ปวดศีรษะ
  10. มันข้น เมื่อพิการ หรือแตกดุจโลหิตเสียก็เหมือนกัน ซึมซาบออกมาทางผิวหนังดุจผดผุดออกมาเป็นดวง บางทีแตกเป็นน้ำเหลือง ให้ปวดแสบปวดร้อนยิ่งนัก
  11. ไขข้อ เมื่อพิการ หรือแตกก็ดี ไขข้อนี้มีอยู่ในกระดูก จะทำให้เมื่อยในข้อในกระดูกทุกแห่งดุจครากจากกัน ให้ขัดให้ตึงทุกข้อ
  12. มูตร เมื่อพิการหรือแตกนั้น ให้ปัสสาวะวิปลาส คือ แดง เหลือง และเป็นนิ่วก็ดี บางทีเป็นดุจน้ำข้าวเช็ด ให้ขัดเบา ให้เจ็บหัวเหน่า ให้หัวเหน่าฟก เป็นนิ่ว เป็นมุตกิต เป็นสัณฑฆาต กาฬขึ้นในมูตร ให้มูตรพิการ แปรไปต่างๆ
ลักษณะธาตุดินพิการ
  1. ผมพิการ เจ็บในสมอง ผมร่วง 
  2. ขนพิการ เจ็บทุกขุมขน ทั่วสรรพางค์กาย
  3. เล็บพิการให้ต้นเล็บช้ำ เขียวดำ บางทีให้ฟกบวม เป็นหัวเดือนหัวดาว บางทีให้ขบเล็บช้ำ เป็นหนอง เจ็บปวด ยิ่งนัก
  4. ฟันพิการหักถอนแล้วก็ดี ย่อมเป็นประเพณีสืบกันมา ถ้าเจ็บในไรฟัน ในรากฟัน ในเหงือก ก็ให้แก้ในทางรำมะนาด
  5. หนังพิการให้หนังสากชา ถ้ามด หรือแมลงวันไต่ หรือจับก็ไม่รู้สึกกาย ให้แสบร้อนยิ่งนัก เรียกว่า กัมมิโทษ คือโทษที่เกิดแก่กรรม
  6. เนื้อพิการเนื้อ 500 ชิ้น ถ้าพิการ ให้เสียวไปทั้งตัว ม้กให้ฟกที่นั้นบวมที่นี่ ให้เป็นพิษ บางทีให้ร้อนดุจไฟ บางทีให้ฟกขึ้นดุจประกายดาษ ประกายเพลิง
  7. เอ็นพิการเส้นประธาน 10 เส้น มีบริวาร 2,700 เส้น ก็หวาดไหวไปสิ้นทั้งนั้น ที่กล้าก็กล้า ที่แข็งก็แข็ง ที่ตั้งดานก็ตั้งดาน ที่ขอดก็ขอดเข้าเป็นก้อนเป็นเถาไป เป็นเหตุแต่จะให้โทษหนักแต่เส้นอันชื่อว่าสุมนากับเส้นอัมพฤกษ์นั้น ทำเหตุแต่จะให้ระส่ำระสาย ให้ร้อน ให้เย็น ให้เมื่อย ให้เสียวไปทุกเส้นเอ็นทั่วทั้งตัว ตั้งแต่ที่สุดบาทาตลอดขึ้นไปถึงศีรษะ ทำให้เจ็บเป็นเวลา แต่เส้นอัมพฤกษ์สิ่งเดียวนั้น ให้โทษถึง 11 ประการ ถ้าพร้อมทั้ง 2,700 เส้น แล้วก็ตาย ถ้าเป็น 2-3 เส้นยังแก้ได
  8. กระดูกพิการกระดูกทั้งหลายประมาณไว้ 300 ท่อน ถ้าพิการโรคนี้จะแก้เป็นอันยากยิ่งนัก 
  9. เยื่อในกระดูกพิการ ( คัมภีร์ไม่บอกอาการ บอกแต่ยาแก้ เหมือนแก้กระดูก)
  10. ม้ามพิการแตก ให้ม้ามหย่อน
  11. ดวงหฤทัยพิการถ้าพิการหรือแตกก็ดี กระทำให้เป็นคนเสียจริต ถ้ายังอ่อนอยู่ ให้คุ้มดีคุ้มร้าย มักขึ้งโกรธ บางทีให้ระส่ำระสาย ให้หิวหากำลังมิได้
  12. ตับพิการถ้าพิการแตกก็ดี เป็นเพราะโทษ 4 ประการ คือ
    1)กาฬผุดขึ้นในตับจึงทำให้ตับหย่อน
    2)เป็นฝีในตับย่อมให้ลงเป็นโลหิตสดๆ ออกมา
    3)กาฬมูตรผุดขึ้นในตับกระทำให้ลงเป็นเสมหะโลหิตเน่า ปวดมวนอยู่เสมอ ให้ตาแดงเป็นสาย โลหิต คนทั้งปวงย่อมสมมุติเรียกว่ากระสือ ปีศาจเข้าปลอมกิน เพราะคนไข้ เพ้อหาสติมิได้ เจรจาด้วยผี หมอจะแก้ยากนัก
    4)เป็นด้วยปถวีธาตุแตกเองให้ระส่ำระสาย ให้หอบไอ อยู่เป็นนิจ จะบริโภคอาหารก็ไม่ได้ หายใจก็ไม่ถึงท้องน้อย?
  13. พังผืดพิการแตกให้อกแห้ง กระหายน้ำ คือริดสีดวงแห้งนั่นเอง 
  14. พุงพิการแตก ให้ขัดอก ให้ลงท้อง ท้องขึ้นท้องพอง ให้แน่นในอก ในท้อง บริโภคอาหารไม่ได้
  15. ปอดพิการแตกเมื่อปอดพิการแตกก็ดี อากาจดุจไข้พิษ คือ กาฬขึ้นในปอด ให้ร้อนอก กระหายน้ำ แล้วหอบจนโครงลด ให้กินน้ำจนปอดลอยจึงหายยาก บางที่จนอาเจียนน้ำออกมาจึงจะหายอยาก
  16. ไส้ใหญ่พิการแตกคือกินอาหารผิดสำแดง ให้ปวดท้อง ให้ขัดอก บางทีให้ลง ให้อาเจียน คือ ลมกัมมัชวาตพัดให้เสมหะเป็นดานกลับเข้าไปในท้องในทรวงอก แล้วให้ตัดอาหารย่อมว่าไส้ตีบ
  17. ไส้น้อยพิการแตกให้วิงเวียนหน้าตา จะลุกขึ้นยืนให้หาว ให้เรอ ให้จุกเสียด เจ็บเอว 
    ให้เสมหะขึ้นคอ ให้ร้อนคอร้อนท้องน้อย เป็นลม คลื่นเหียน ให้ตกโลหิต ให้ตกหนอง
  18. อาหารใหม่พิการแตกถ้าบริโภคอาหารเข้าไปอิ่มแล้วเมื่อใด ก็ทำให้ร้อนท้องนัก บางทีให้สะอึก แล้วให้จุกเสียดตามชายโครง ให้ผะอืดผะอม คนสมมุติว่าไฟธาตุหย่อน แต่ไม่ใช่อาการอย่างนี้ เป็นเพราะบริโภค อาหารที่ไม่เคยบริโภค เช่น อาหารดิบ หรือลมกุจฉิสยาวาตพัดไม่ตลอด ให้เป็นไปต่างๆ บางทีให้ลง บางทีให้เป็นพรรดึกแดกขึ้นแดกลง กินอาหารไม่ได้
  19. อาหารเก่าพิการแตกอาหารเก่าเมื่อพิการแตก คือ ซางขโมยกินลำไส้ เมื่อพ้นกำหนดซางแล้ว คือริดสีดวงคูถถทวาร 
  20. สมองศีรษะพิการแตก เมื่อสมองพิการ หรือแตก ให้เจ็บในศีรษะดังจะแตก ให้ตามืด ให้หูตึง ปากและจมูกเฟดขึ้น ลิ้นกระด้าง เดิมเป็นเพราะสันนิบาตลมปะกัง ถ้ายาใดๆ ก็แก้ไม่หาย

Scroll to top