คัมภีร์กระษัย

ในบทนี้จะกล่าวถึงโรคกระษัย ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้ร่างกายเกิดความสึกหรอ จะบังเกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ดังคัมภีร์ต่อไปนี้

กระษัยมี 2 ประเภท แบ่งได้ 26 จำพวก คือ

  • ประเภทที่ 1 กระษัยเกิดเป็นอุปปาติกะโรค มี 18 จำพวก
  • ประเภทที่ 2 กระษัยเกิดแต่กองธาตุสมุฏฐาน มี 8 จำพวก

อาการของกระษัยประเภทที่ 1 กระษัยที่เกิดเป็นอุปปาติกะโรค (เกิดขึ้นเอง) 18 จำพวก คือ

1.กระษัยล้น

เกิดด้วยน้ำเหลือง โดยกำลังวาโยพัดให้เป็นฟองข้นเข้าเป็นก้อน กระทำให้ท้องลั่นขึ้นลั่นลง ข้างขึ้นให้แดกอก ข้างแรมให้ถ่วงหัวเหน่า ดังจะขาดใจตาย

2.กระษัยราก

บังเกิดเพื่อ (เพราะ) ลม ร้องให้อาเจียนลมเปล่า และให้ลั่นในอุทรดังจ๊อกๆ ให้ตึงทั้งกายดุจบุคคลเอาเชือกรัดไว้ ให้ผู้นั้นร้องครางอยู่ทั้งวันทั้งคืนมิได้ขาด ดังจะขาดใจตาย

3.กระษัยเหล็ก

มีอาการกระทำให้หัวเหน่า และท้องน้อยแข็งดุจแผ่นศิลา ให้ไหวตัวไปมาไม่ได้ ครั้นแก่เข้าก็แข็งลามไปถึงยอดอก ให้บริโภคอาหารไม่ได้ ให้ปวดขบดังจะขาดใจตาย

4.กระษัยปู

เกิดเพื่อ (เพราะ) โลหิตคุมกัน มีสัณฐานดังปูทะเล เข้ากินอยู่ในกระเพาะข้าว ให้ปวดขบท้องน้อยเป็นกำลัง บริโภคอาหารทับลงไปเมื่อใดค่อยสงบลง ครั้นสิ้นอาหารแล้วกระทำให้ขัดอยู่ในลำไส้ อั้นไปทั้งท้องเจ็บดังจะขาดใจ

5.กระษัยจุก

กล่าวคือวาโยเดินแทงเข้าไปในเส้นเอ็นภายใน เป็นอาคันตุกะวาตะ และให้เส้นนั้นพองขึ้นในท้อง ให้จุก ให้แดกดังจะขาดใจ นอนคว่ำร้องอยู่เป็นนิจ จะนอนหงายไม่ได้ ให้ทุกขเวทนาเป็นกำลัง

6.กระษัยปลาไหล

ครั้นนานเข้าจึงกระทำโทษ เอาหางชอนลงไปแทงเอาหัวเหน่า และทวารหนักทวารเบา แล้วให้ขัดอุจจาระ-ปัสสาวะ ให้ปัสสาวะเหลืองดังขมิ้น บางทีแดงดังน้ำฝางต้ม ดังน้ำดอกคำ และตัวกระษัยนั้นพ้นขึ้นตามลำไส้ เอาหัวแยงขึ้นไปถึงชายตับ และกระเพาะข้าว ถ้าบริโภคอาหารลงไปตัวกระษัยก็กัดเอาชายตับ ชายม้าม เจ็บปวดยิ่งนัก บางทีให้เมื่อยขบทุกข้อ ทุกกระดูก บางทีให้ขนลุกชูดุจไข้จับ

7.กระษัยปลาหมอ

มีจิตวิญญาณเกิดขึ้นในลำไส้ ถ้าข้างขึ้นตัวกระษัยบ่ายศีรษะขึ้นมา กัดเอาชายตับ ชายม้าม และปอด ทำให้จุกแดก ถ้าข้างแรมตัวกระษัยบ่ายศีรษะลงในท้องน้อย และหัวเหน่า ทำให้ขัดอุจจาระปัสสาวะให้เจ็บปวดเวทนาเป็นกำลัง ให้ร้องครวญครางอยู่ดังจะขาดใจตาย

8.กระษัยปลาดุก

เกิดขึ้นเพื่อ (เพราะ) โลหิต และน้ำเหลืองระคนกัน เกิดในกระเพาะข้าว มีจิตวิญญาณดังปลาดุก ถ้าในสตรีจับมดลูก ให้มีสัณฐานดังหญิงตั้งครรภ์ได้ 7-8 เดือนบางทีแทงไปซ้ายไปขวา ถ้าข้างขึ้นแทงไปยอดอกให้เจ็บอก ต้องสมมุติได้ บางทีให้หอบ ให้สะอึก ถ้าข้างแรมเลื่อนลงมาท้องน้อย และหัวเหน่า บางทีต่ำลงไปกระดูกสันหลัง ตึงลงไปต้นขาทั้ง 2 ข้าง ไม่ทันรู้ก็ว่ามีครรภ์

9.กระษัยปลวก

เกิดขึ้นเพื่อ (เพราะ) สัณฑะฆาต ทำให้ปวดขบทรวงอกดังจะขาดใจตาย เป็นแล้วหายไป 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน ก็กลับเป็นอีก เป็นอย่างนี้หลายครั้งหลายหน ครั้นนานเข้าทำให้ผิวเนื้อขาวซีด และเผือดผอมแห้งลง ไม่ทันรู้ว่าฝีปลวก ต่างกันตรงที่ฝีปลวกมีหนอง กระษัยปลวกไม่มีหนอง

10.กระษัยลิ้นกระบือ

เกิดเพื่อ (เพราะ) โลหิตลิ่ม ติดอยู่ชายตับ เป็นตัวแข็งยาวออกมาชายโครงด้านขวา มัสัณฐานดังลิ้นกระบือ กระทำให้ครั่นตัว ให้ร้อน จับเป็นเวลา ให้จุกให้แน่นอกบริโภคอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับเป็นนิจ ให้ร่างกายซูบผอมแห้งไป ครั้นนานเข้า กระษัยแตกออกเป็นโลหิต น้ำเหลืองซึมไปในลำไส้ใหญ่ใส้น้อย ให้ใส้พองท้องใหญ่ ได้ชื่อว่า มานกระษัย รักษายากนานไปกระษัยแตกออกแก้ไม่ได้ (ให้แก้แต่ยังเป็นลิ้นกระบือ) 

11.กระษัยเต่า

เกิดเพื่อ (เพราะ) ดานเสมหะ ตั้งอยู่ที่ชายโครงซ้ายขวาเท่าฟองไข่ แล้วลามขึ้นมาจุกอยู่ยอดอก กระทำให้จับทุกเวลาน้ำขึ้นให้กายซูบผอมผิวเนื้อเหลืองดังขมิ้น ครั้นนานเข้าให้ตกโลหิตตกทวารหนักทวารเบา โทษทั้งนี้ คือ ตัวกระษัยแตกออก เป็นอสาทิยโรค

12.กระษัยดาน

ตั้งอยู่ยอดอกแข็งดังศิลา ถ้าตั้งลามลงไปถึงท้องน้อยเมื่อใด กระทำให้ร้องครางอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน ถูกเย็นเข้าไม่ได้ ถูกร้อนเข้าค่อยสงบลงหน่อยแล้วกลับปวดอีก ทำให้จุกเสียดแน่นหน้าอก บริโภคอาหารไม่ได้ ถ้าลามลงถึงหัวเหน่าเมื่อใด เป็นอติสัยโรค รักษาไม่ได้ ถ้าจะรักษาก็ต้องรักษาแต่ยังไม่ลงถึงหัวเหน่า

13.กระษัยท้น

เกิดเพื่อ (เพราะ) บริโภคอาหารเมื่อท้องว่างอยู่ และยังไม่ได้บริโภคอาหารก็สงบเป็นปกติดี ครั้นบริโภคอาหารเข้าไปน้อยก็ดี มากก็ดี จึงกระทำให้ท้นขึ้นมายอดอก บางทีให้อาเจียน บางทีให้แน่นอก และชายโครง หายใจไม่ตลอดท้อง ดังจะสิ้นใจ แล้วกระทำให้แน่นขึ้นมา แต่ท้องน้อย ชักเอากระเพาะข้าวแขวนขึ้น

14.กระษัยเสียด

เกิดเพื่อ (เพราะ) ลมตะคริวขึ้นมาแต่แม่เท้า ขึ้นมาตามลำเส้นตะคริว ทำให้ปวด สะดุ้งทั้งตัว แล้วขึ้นเสียดเอาชายโครงทั้ง 2 ข้าง ให้ร้องดังจะขาดใจ บางทีให้ขบไปทั้วทั้งตัว ถ้าจะรักษาให้นวดเสียก่อน ให้คลายแล้ว จึงแต่งยาให้กิน

15.กระษัยเพลิง(ไฟ)

เกิดเพื่อ (เพราะ) เตโชธาตุ 3 ประการ คือ

    1. สันตัปปัคคี
    2. ชิรณัคคี
    3. ปริทัยหัคคี

ทั้ง 3 นี้ กระทำให้จับแต่เวลาบ่าย ให้จักษุแดง ให้เจ็บอยู่ยอดอก มักเป็นฝีมะเร็งทรวง ให้บวมหน้า บวมท้อง ให้ตัวเย็น แต่ร้อนในดังไฟเผา ตั้งเหนือสะดือ 3 นิ้ว ให้จุกอกให้แดกอก ให้เสียดสีข้างจะไหวตัวก็ไม่ได้ จับเส้นปัตคาต ปวดขบเป็นกำลัง บริโภคอาหารเข้าไปให้ผะอืดผะอม ให้ท้องขึ้น และไม่ผายลม ให้แน่น บริโภคอาหารไม่ได้ ให้เหงื่อตกทุกเส้นขน

16.กระษัยน้ำ

เกิดเพื่อ (เพราะ) โลหิต น้ำเหลือง เสมหะ ประการใดประการหนึ่ง ถ้าเป็นทั้ง 3 เรียกว่า กระษัยโลหิต (กระษัยเลือด) ถ้าสตรีตั้งใต้สะดือ 3 นิ้ว ถ้าบุรุษตั้งเหนือสะดือ 3 นิ้ว (ถ้าสตรีแจ้งในคัมภีร์มหาโชตรัตน์ ส่วนบุรุษแจ้งในคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา) กระษัยนี้ถ้าบังเกิดในผู้ใด ทำให้ปวดขบถึงยอดอก ดังจะขาดใจ แล้วตั้งลามขึ้นไปดังฝีมะเร็งทรวง และฝีปลวก

17.กระษัยเชือก

ตั้งขึ้นแต่หัวเหน่า หยั่งถึงหัวใจ แข็งดุจเหล็ก ให้แน่นชายโครงเป็นกำลัง ให้จุกเสียด ให้ขัดอุจจาระปัสสาวะ และให้ปัสสาวะดำเป็นมัน กระทำให้บริโภคอาหารไม่ได้ ให้อิ่มไปด้วยลม ให้จับเป็นเวลา บางทีให้ร้อน บางทีให้หนาว นวดแล้วจึงคลายหน่อยหนึ่ง ถ้าไม่ได้นวดให้ตึง
จะย่อตัวก็ไม่ได้ ดุจบุคคลเอาเหล็กมาเสียบไว้ ให้เวทนาเป็นกำลัง

18.กระษัยลม

เกิดเพื่อ (เพราะ) ลม 6 จำพวก

    1. เกิดเพื่อ (เพราะ) ลมในลำไส้ เป็นดานกลมเข้าประมาณเท่าลูกในตาล เมื่อนานเข้าให้แข็ง ไปทั้ง 2 ข้าง ให้จุกเสียดแน่นในอก
    2. เกิดเพื่อ (เพราะ) ลมนอกลำไส้ ให้แล่นเข้าในกระดูก ให้เมื่อยขบในกระดูก ดังจะแยกจากกัน
    3. เกิดเพื่อ (เพราะ) ลมทั่วกาย ลมอันนั้นประมวลกันเข้า ตั้งอยู่เหนือสะดือเท่าลูกมะเดื่อ ให้จุกเสียดแน่นอกเป็นกำลัง
    4. เกิดเพราะลมอุทรวาต เกิดแต่ปลายเท้าขึ้นมาถึงศีรษะ เมื่อจะเป็นแก่บุคคล ลมนั้นพัดอยู่เพียงยอดอก แล้วแล่นเข้าลำไส้ให้เป็นเม็ดในลำไส้ มักให้เป็นฝีรวงผึ้ง เจ็บปวดพ้นประมาณ
    5. เกิดเพื่อ (เพราะ) ลมที่พัดจากกระหม่อมถึงปลายเท้า หากพัดไม่ตลอด ตันอยู่แค่ไหนให้เจ็บอยู่แค่นั้น
    6. เกิดเพื่อ (เพราะ) ลมที่ตั้งอยู่ 4 แห่ง คือ
      (1) ใต้สะดือ,               1 แห่ง
      (2) เหนือสะดือ            1 แห่ง
      (3) ริมสะดือซ้าย          1 แห่ง
      (4) ริมสะดือขวา          1 แห่ง

อาการของกระษัยประเภทที่ 2 เกิดแต่กองธาตุสมุฎฐาน มี 8 จำพวก

    1. กระษัยกล่อนดิน
      เมื่อจะบังเกิดตั้งเป็นก้อนขึ้นที่หัวเหน่าซ้ายหรือขวา แล้วเลื่อนลงมา อัณฑะกำเริบฟกขึ้นมาจับต้องเข้าไม่ได้ จะกระทบผ้านุ่งก็ไม่ได้ ให้เจ็บเสียวตลอดถึงหัวใจ ให้เสียวตามราวข้าง และทรวงอก ให้ปวดขบในทรวงอกเป็นกำลัง ให้เจ็บทั่วสรรพางค์กาย
    2. กระษัยกล่อนน้ำ
      เกิดเพื่อ (เพราะ) กองอาโปธาตุ คือ โลหิต น้ำเหลือง เสลด อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเกิดทั้ง 3 เรียกว่า กระษัยโลหิต ถ้าสตรีเกิดใต้สะดือ 3 นิ้ว ถ้าบุรุษตั้งเหนือสะดือ 3 นิ้ว ให้ท้องใหญ่ดุจกันกับสตรี (เหมือนกระษัยน้ำที่ได้กล่าวมาแล้ว)
    3. กระษัยกล่อนลม
      เมื่อกำเริบนั้น ข้างขึ้นข้างแรมเหมือนกัน เวลาเช้าคลายสักหน่อยดุจคนดี เวลาบ่ายจึงกระทำให้จุกขึ้นมา แล้วกัด ขบ ตอดในทรวงอก ให้ร้อนในอก ให้ตัวเย็นยิ่งนัก แล้วให้ปวดขบเป็นกำลัง ถ้าบริโภคอาหารสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งอันร้อนจึงจะคลายสักหน่อย
    4. กระษัยกล่อนไฟ
      กล่าวคือเพลิงธาตุทั้ง 4 ไม่ได้เป็นปกติ จึงให้วิปริตแปรไปต่างๆ บางทีให้ตั้งในนาภี และทรวงอก กระทำให้แน่นหน้าอก บริโภคอาหารไม่ได้ บางทีให้จักษุปวดดังจะขาดใจตาย บางที่ให้เสโท (เหงื่อ) ตกทุกเส้นขน ทำให้จักษุแดง ให้รุมเจ็บอยู่ที่ยอดอก ให้จับแต่เวลาบ่าย ให้บวมหน้า บวมหลัง บวมเท้า ถ้าบวมทั้ง 3 อย่าง รักษาไม่ได้
    5. กระษัยกล่อนเถา
      เกิดเพื่อ (เพราะ) ลมสัณฑะฆาต และลมปัตคาต แล่นเข้าในลำไส้ให้เส้นพองแข็งขวางอยู่หัวเหน่ามาบรรจบเกลียวข้าง ถ้าผู้หญิงเป็นข้างซ้าย ถ้าผู้ชายเป็นข้างขวา เสียดตามชายโครงถึงยอดอก ปวดขบในอก เสียวตลอดถึงลำคอ บางทีอาเจียนแต่น้ำลาย ถ้าอาเจียนออกมาอาการ
      ปวดทุเลา ทำให้อาการดุจฝีปลวก ฝีมะเร็งทรวง ผิดกันที่น้ำมูตร ถ้าเป็นกระษัย น้ำมูตรแดงติดจะเหลือง เอาถ้วยรองไว้ดู ถ้ามันนอนก้น สีดังน้ำปูนกินหมาก ถ้าฝีสีดำ โรคนี้เป็นเพราะกินของคาวหวานนัก เป็นๆ หายๆ ประมาณ 12-13 ปี แล้วกลายเป็นมานกระษัย รักษาไม่ได้ ให้แก้แต่ยังอ่อน กระษัยน้ำ กระษัยลม กระษัยไฟ เหมือนที่กล่าวมา
    6. กระษัยน้ำ เหมือนที่กล่าวมาแล้ว
    7. กระษัยลม เหมือนที่กล่าวมาแล้ว
    8. กระษัยไฟ เหมือนที่กล่าวมาแล้ว

ยาที่ใช้ในการรักษากระษัยทั้งหมด

  1. สมอดีงู                  หนัก  20  บาท
  2. สมอไทย                หนัก  20  บาท
  3. แสมทะเล               หนัก  10  บาท
  4. แสมสาร                 หนัก  10  บาท
  5. ใบมะกา                 หนัก  10  บาท
  6. ใบมะดัน                 หนัก  10  บาท
  7. ขี้เหล็ก                  หนัก  10  บาท
  8. เกลือ                    หนัก  10  บาท
  9. บอระเพ็ด               หนัก  10  บาท
  10. รากช้าพลู              หนัก  10  บาท
  11. แก่นลั่นทม             หนัก   5  บาท
  12. รากเจตมูลเพลิง       หนัก  5  บาท
  13. ดีปลี                    หนัก   5  บาท
  14. กะเพรา                 หนัก   5  บาท
  15. ดินประสิว               หนัก   5  บาท
  16. ยาดำ                    หนัก   5  บาท
  17. สะค้าน                  หนัก   5  บาท
  18. ส้มป่อย                 หนัก   5  บาท
  19. เถาวัลย์เปรียง          หนัก   5  บาท
  20. ใบมะขาม               หนัก   5  บาท
  21. ดอกคำฝอย            หนัก   5  บาท
  22. เทียนทั้ง 9             หนัก   2  บาท
  23. ฝักราชพฤกษ์                  3 ฝัก

    วิธีปรุง  นำตัวยาทั้งหมดมาต้มรวมกันวิธีรับประทาน  วันละ 3 ครั้ง  ก่อนอาหาร เช้า-กลางวัน-เย็น (เพิ่มลดได้ตามธาตุหนัก-เบา) ครั้งละ 2 – 3 ช้อนโต๊

 

Scroll to top