การนวดไทยแบบเชลยศักดิ์ หมายถึง การนวดด้วยท่าทางทั่วไป ไม่มีแบบแผนหรือพิธีรีตองในการนวด และยังสามารถใช้อวัยวะอื่น ๆ เช่น เข่า ศอก เท้า เพื่อช่วยในการนวดได้
ความรู้เบื้องต้นของการนวดไทยแบบเชลยศักดิ์
- ข้อพึงระวังของหมอนวด
- หมอนวดต้องรักษาสุขภาพทั้งทางกายและใจ
- หมอนวดต้องเป็นผู้มีศีลธรรม คือ ไม่ดื่มสุรา ไม่เจ้าชู้ ไม่หลอกลวง
- สถานที่นวด ไม่ควรเป็น โรงยาฝิ่น โรงน้ำชา บ่อนการพนัน สถานที่สาธารณต่าง ๆ
- มารยาทในการนวด
- ก่อนการนวด ผู้นวดสำรวมจิตใจเป็นสมาธิ ระลึกถึงครูบาอาจารย์ ยกมือไหว้คนไข้
- ขณะทำการนวดห้ามกินอาหารหรือสิ่งใด ๆ และระมัดระวังการพูด
- ข้อควรระวังในการนวด
- ไม่ควรนวดหลังจากการรับประทานอาหารใหม่ ๆ ไม่เกิน 30 นาที
- ไม่ควรนวดให้เกิดการฟกช้ำมากขึ้น หรือมีการอักเสบซ้ำซ้อน
- กรณีผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ต้องระมัดระวัง
- ไม่ควรนวดผู้ที่มีอาการอักเสบติดเชื้อ คือ มีไข้มากกว่า 38 องศา ปวด บวม แดง ร้อน
- ไม่ควรนวดผู้ที่ประสบอุบัติเหตุใหม่ ๆ
- ข้อห้ามหรือข้อควรระวังอื่น ๆ ในแต่ละโรคหรืออาการ
- ข้อปฏิบัติหลังการนวด
- ผู้นวดควรแช่มือในน้ำอุ่นเพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และนวดคลึงบริเวณกล้ามเนื้อฝ่ามือและรอบข้อนิ้วมือ
- ผู้ถูกนวด 1)ควรงดอาหารแสลง เช่น อาหารมัน ทอด หน่อไม้ ข้าวเหนียว เครื่องในสัตว์ เหล้า เบียร์ ของหมักดอง 2)ห้ามสลัด บีบ ดัด ส่วนที่มีอาการเจ็บ 3)ทำกายบริหารเฉพาะโรคหรืออาการเพื่อส่งเสริมการรักษา 4)คำแนะนำอื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงมูลเหตุเกิดโรค
เส้นประธานสิบกับแนวของเส้น
- เส้นอิทา และปิงคลา เป็นตัวแทน พลังสมองและไขสันหลัง
- เส้นสุมนา เป็นตัวแทน ประสาทส่วนกลางและการไหลเวียน
- เส้นกาลทารี เป็นตัวแทน ระบบไหลเวียนแขนขา และพลังปลายประสาทแขนขา
- เส้นสหัสรังสี และเส้นทุวารี เป็นตัวแทน ตาซ้ายและขวา
- เส้นจันทภูสัง และเส้นรุชำ เป็นตัวแทน หูซ้ายและขวา
- เส้นสิกขิณี (คิชชะ) เป็นตัวแทน ระบบปัสสาวะและอวัยวะเพศ
- เส้นสุขุมัง (นันทกระหวัด) เป็นตัวแทน ระบบขับถ่าย ทวารหนัก