โกฐจุฬาลัมพา

โกฐจุฬาลัมพา

ชื่อสมุนไพร : โกฐจุฬาลัมพา
ชื่ออื่นๆ
: โกฐจุฬาลัมพาจีน (ทั่วไป), ตอน่า (ไทยใหญ่), แชฮาว (จีนแต้จิ๋ว), ชิงฮาว, ชิงเฮา (จีนกลาง)
ชื่อสามัญ : Sweet warm wood, Quinghao
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artemisia annua L.
ชื่อวงศ์ : COMPOSITAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นโกฐจุฬาลัมพา เป็นไม้ล้มลุก มีอายุเพียงปีเดียว มีความสูงได้ประมาณ 0.7-2 เมตร แตกกิ่งมาก ทั้งต้นมีกลิ่นแรง มีขนขึ้นประปราย หลุดร่วงได้ง่าย


  • ใบโกฐจุฬาลัมพา ใบเดี่ยวเรียงเวียน มีต่อมโปร่งแสง ใบบริเวณ โคนต้นรูปไข่ หรือ รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 3-7 เซนติเมตร ขอบใบหยักลึกแบบขนนก 3 หรือ 4 ชั้น เป็น 5-8 คู่ แฉกใบจักฟันเลื่อยลึกรูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เส้นกลางใบเด่นชัดทางด้านบน แกนกลางใบมีปีกแคบ อาจจักฟันเลื่อยเล็กน้อย หรือ เรียบ ใบบริเวณกลางต้นหยักลึกแบบขนนก 2 หรือ 3 ชั้น ใบใกล้ยอดรวมทั้งใบประดับหยักลึกแบบขนนก 1 หรือ 2 ชั้น ก้านใบสั้นมาก


  • ดอกโกฐจุฬาลัมพา ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง (panicle) รูปพีรามิดกว้าง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น กลม มีจำนวนมาก สีเหลืองถึงเหลืองเข้มเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 มิลลิเมตร ก้านช่อย่อยสั้น ดอกไม่มีแพพัส (pappus) วงนอกเป็นดอกเพศเมีย มี 10-18 ดอกเชื่อมติดกันเป็นหยอด ปลายจักเป็นซี่ฟัน 5 เกสรเพศผู้ 5 อัน อับเรณูเชื่อมติดต่อ แต่ละอับมีรยางค์ด้านบน 1 อัน รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม และมีรยางค์ปลายมนที่โคน 2 อัน


  • ผลโกฐจุฬาลัมพา จะเป็นผลแบบผลแห้ง เมล็ดล่อนรูปไข่แกมรี มีขนาดยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร

ส่วนที่ใช้เป็นยา  : ใบและเรือนยอด(ที่มีดอก)แห้ง

สรรพคุณ โกฐจุฬาลัมพา :

  • ใบ และเรือนยอด (ที่มีดอก)แห้ง แก้ไข้เจลียง แก้ไข้เพื่อเสมหะ ไข้มาลาเรีย แก้หืด แก้หอบ แก้ไอ ใช้เป็นยาขับเหงื่อ แก้ดีซ่าน
    แพทย์แผนจีน ใช้แก้ไข้อันเกิดจากความร้อนในฤดูร้อน แก้ไข้ต่ำๆที่ไม่มีเหงื่อ แก้ไข้อันเนื่องจากวัณโรค และแก้ไข้จับสั่น แก้ริดสีดวงทวาร

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ตามสรรพคุณของตำรายาไทยโดยการใช้ ส่วนโกฐจุฬาลัมพา เหนือดินแห้ง 3-12 กรัม ในรูปแบบยาต้มรับประทาน ต่อวัน
  • ส่วนในการใช้ตามสรรพคุณของตำรายาจีน จะใช้ในขนาด 4.5-9 กรัม โดยใช้ในรูปแบบยาต้มรับประทานเช่นเดียวกัน
  • ไข้เจลียง คือ ไข้ที่มีอาการจับวันเว้นวัน เป็นไข้จับสั่นประเภทหนึ่ง

ข้อมูลจากบัญชียาจากสมุนไพร : 

  • ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้โกฐจุฬาลัมพาในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่ ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ยาแก้ไข้ ปรากฏตำรับ “ยาจันทน์ลีลา” มีส่วนประกอบของส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู ตำรับ ยาเลือดงาม มีส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

 โกฐจุฬาลัมพา เป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรอย่างกว้างขวางทั้งการแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนจีนต่างก็นำสมุนไพรชนิดนี้มาใช้รักษาโรคต่างๆ โดยในตำรายาไทยระบุว่า โกฐจุฬาลัมพา หรือ โกฐจุฬาลัมพา เป็นเครื่องยาที่มีรสสุขุมหอมร้อน โกฐจุฬาลัมพายังเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ เช่น มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โดยโกฐจุฬาลัมพาจัดอยู่ใน โกฐทั้งห้า (เบญจโกฐ) โกฐทั้งเจ็ด (สัตตโกฐ) และโกฐทั้งเก้า (เนาวโกฐ)

          ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จีนได้สกัดอนุพันธุ์ของสมุนไพรโกฐจุฬาลัมพาเรียกว่า ชิงเฮาสู (Qinghaosu) หรือ อาคิมิซินิน (Artemisinin) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อมาลาเรียได้ ผลจากการศึกษาวิจัยนี้ทำให้ได้ยารักษาโรคมาลาเรียชนิดใหม่ สามารถรักษา และช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคมาลาเรียหลายสิบล้านคนทั่วโลก และปัจจุบันประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีการพัฒนาสมุนไพรโกฐจุฬาลัมพา ทั้งในรูปของยาเม็ดและยาฉีดได้อีกด้วย

Scroll to top