พริกหาง

พริกหาง

ชื่อสมุนไพร : พริกหาง
ชื่ออื่นๆ :
Cubeb, Tailed Pepper
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper cubeba L. f.
ชื่อวงศ์ : Piperaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นพริกหาง เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง อายุหลายปี ลำต้นมีข้อปล้อง ข้อโป่งนูน มีรากฝอยออกบริเวณข้อเพื่อใช้ยึดเกาะ
    พริกหาง
  • ใบพริกหาง เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ขนาดกว้าง 5-8 ซม. ยาว 8-11 ซม. ปลายใบแหลม ฐานใบรูปหัวใจหรือมน ก้านใบยาว 1.5-3 ซม.
  • ดอกพริกหาง เป็นดอกช่อ ออกตามซอกใบ ก้านช่อดอกยาวราวก้านใบ ช่อดอกยาว 10-17 ซม. ดอกย่อยไม่มีก้านดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ สีขาวแกมเขียว ช่อดอกอาจติดเป็นผลได้มากถึง 50 ผล หรือมากกว่า ผลอ่อนสีเขียว และยังไม่มี “ก้าน”ผล(ซึ่งเรียกกันว่า “หาง”) เมื่อผลเริ่มจะแก่ จะมี “ก้าน” เป็นเส้นเรียวเล็ก เจริญจากส่วนของเนื้อผลด้านที่ติดกับก้านช่อดอกเดิม มีชื่อเฉพาะเรียกว่า “thecaphore”
  • ผลพริกหาง ผลที่แก่จัด และยังไม่สุก มีสีเขียว จะถูกเก็บด้วยมือ แล้วผึ่งแดดให้แห้ง จะได้ “พริกหาง” ที่มีรูปกลม ขนาดผ่าศูนย์กลาง 3-6 มม. มีส่วนก้านผลติดอยู่ด้วย ก้านอาจยาวได้ถึง 7 ซม. เปลือกนอกสีแดงเข้มหรือสีน้ำตาล มีน้อยที่มีสีเทา มีรอยย่นคล้ายร่างแห มีเมล็ดเดียว สีน้ำตาลอมแดง ติดอยู่ที่ฐานของเปลือก มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรสเผ็ด

 

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ผล

สรรพคุณ พริกหาง :

  • ผล เป็นยาขับปัสสาวะ ยาขับลม บำรุงธาตุ ถอนพิษฟกบวม แก้หนองใน

พริกหางมีน้ำมันระเหยง่ายร้อยละ ๑๐-๒๐ เรียก “น้ำมันพริกหาง” (Cubeb Oil) ซึ่งประกอบด้วยสาร cubeb camphor, cubebic acid เป็นต้น และยังมีสารลิกแนน(lignin) ชื่อ “คิวเบบิน”(cubebin) ราวร้อยละ ๒.๕ ในทางการแพทย์ใช้พริกหางเป็นยาขับปัสสาวะ เป็นยาฆ่าเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และยาขับเสมหะ

แพทย์โบราณไทยใช้พริกหางเป็นยาขับปัสสาวะ ยาขับลม บำรุงธาตุ ถอนพิษฟกบวม แก้หนองใน

***ตำราฝรั่งบางเล่มเรียกพริกหางว่า “Tailed Pepper” มีตำราไทยบางเล่มที่แปลจากตำราฝรั่งและผู้แปลไม่รู้จักพริกหาง จึงแปลและเรียกตามชื่อฝรั่งว่า “พริกไทยหาง”***

ที่มา:จากตำราพระโอสถพระนารายณ์
โดย: ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต และ วิเชียร จีรวงส์

Scroll to top