คัดลิ้น

คัดลิ้น

ชื่อสมุนไพร : คัดลิ้น
ชื่ออื่นๆ :
 กัดลิ้น(ชลบุรี), มะค่าลิ้น(อุตรดิตถ์, ปราจีนบุรี), ลำไยป่า(อุตรดิตถ์), แก้วลาว(จันทบุรี), ค่าลิ้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Walsura trichostemon Miq.
ชื่อวงศ์ : MELIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นคัดลิ้น เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 5-12 เมตร เรือนยอดแผ่นกว้างถึงค่อนข้างกลม กิ่งอ่อนมีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน และมีช่องอากาศเห็นชัดเจน
    คัดลิ้น
  • ใบคัดลิ้น ใบประกอบแบบขนนกมีใบย่อยสามใบ ใบย่อยใบกลางใหญ่ที่สุด ใบย่อยคู่ข้างอยู่ตรงข้ามกัน ก้านใบประกอบยาว 5-10 เซนติเมตร ตรงส่วนที่เชื่อมกับก้านใบย่อยป่องเป็นข้อ ใบย่อยรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 3.5-6.5 เซนติเมตร ยาว 7-15 เซนติเมตร ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีอ่อนกว่า ปลายเรียวแหลม โคนสอบ เส้นแขนงใบข้างละ 9-10 เส้น นูนเด่นชัดทั้ง 2 ด้าน ก้านใบย่อยยาว 1-4.5 เซนติเมตร โคน และปลายก้านป่องเป็นข้อและทำมุมกับแผ่นใบย่อย
  • ดอกคัดลิ้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว 5-10 เซนติเมตร มีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน ดอกเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เล็กมาก รูปสามเหลี่ยม มีขนสั้น กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวนวล รูปขอบขนานปลายมน ยาวประมาณ 6 เท่าของกลีบเลี้ยง ด้านนอกมีขนสั้น เกสรเพศผู้ 10 อัน รังไข่มี 2 ช่อง
  • ผลคัดลิ้น ผลกลม เมื่อสุกสีเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน มี 1 เมล็ด เมล็ดกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7 มิลลิเมตร มีเยื่อนุ่มหุ้ม

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ผลสุก, เปลือก

สรรพคุณ คัดลิ้น :

  • ราก รสร้อนฝาด แก้เส้นเอ็นพิการ บำรุงเส้น บำรุงธาตุ แก้จุกเสียด ช่วยขับลมในลำไส้ ช่วยบำรุงเส้นเอ็น แก้เส้นเอ็นพิการ ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ผลสุก ใช้รับประทานเป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ รักษาแผลเปื่อย
  • เปลือก ช่วยสมานบาดแผล ช่วยห้ามเลือด ใช้ชำระล้างบาดแผล
  • ไม่ระบุส่วนที่ใช้ ใช้กัดลิ้นเป็นส่วนผสมในยารักษาโรคริดสีดวงทวาร

ผลสุก เนื้อหุ้มเมล็ดสีขาวรับประทานได้ มีรสหวาน ถ้ารับประทานมากทำให้ระคายลิ้น นิยมนำไปทำส้มตำรวมกับผลไม้ที่มีรสฝาด เช่น ตะโกนา กล้วยดิบ เพื่อลดการระคาย

Scroll to top