ขันทองพยาบาท

ขันทองพยาบาท

ชื่อสมุนไพร : ขันทองพยาบาท
ชื่ออื่น ๆ
: มะดูกเลื่อม (ภาคเหนือ), หมากดูก (ภาคอีสาน), กระดูก (ภาคใต้), ขันฑสาร, ช้องรำพัน (จันทบุรี), ดูกหิน (สระบุรี), ขันทอง (พิษณุโลก), ขนุนดง (เพชรบูรณ์), ข้าวตาก (กาญจนบุรี), ขุนทอง, คุณทอง (ประจวบคีรีขันธ์), ป่าช้าหมอง (แพร่), เหมืองโลด (เลย), มะดูกดง (ปราจีนบุรี), ขอบนางนั่ง (ตรัง), เหล่ปอ (กะเหรี่ยง)
ชื่อสามัญ : False lime
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Suregada multiflorum (A.Juss) Baill.
ชื่อวงศ์ EUPHORBIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นขันทองพยาบาท เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 7-13 เมตร ทรงพุ่มแน่นทึบ ลำต้นตรง กิ่งก้านอ่อน กิ่งห้อยลง กิ่งมีขนรูปดาว เปลือกต้นสีน้ำตาลแก่ ผิวบางเรียบ เนื้อไม้สีขาว


  • ใบขันทองพยาบาท ใบเป็นใบเดี่ยว แบบเรียงสลับโดยจะออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปหอก ปลายใบแหลม หรือ มน โคนใบแหลม เนื้อใบมีลักษณะหนา และเหนียว หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน ท้องใบเรียบ มีสีอ่อนกว่าหลังใบ ผิวใบด้านล่างมีต่อมสีเหลือง และมีขนเป็นรูปดาว ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีความกว้างประมาณ 4-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาว 2-5 มิลลิเมตร และส่วนของหูใบมีขนาดเล็กประมาณ 2 มิลลิเมตร 


  • ดอกขันทองพยาบาท สีเขียวอมเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อสั้นๆ ตรงซอกใบ ขนาด 0.8-1 เซนติเมตร กลิ่นหอม ช่อละ 5-10 ดอก อยู่ตรงกันข้ามกับใบ มีใบประดับยาว 1 มิลลิเมตร กว้าง 0.7-0.8 มิลลิเมตร รูปหอก ตรงปลายแหลม ดอกแยกเพศ แยกต้น ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้ ขนาด 2.5 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ 35-60 อัน แต่ละอันมีต่อมที่ฐาน อาจพบเกสรตัวผู้ที่เป็นหมันปะปนอยู่ด้วยฐานรองดอกนูนพองออก ดอกเพศเมีย ลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่เหนือวงกลีบ มีขนหนาแน่น รังไข่มี 3 ช่อง ก้านเกสรตัวเมีย 3 อัน ปลายแยก รังไข่มีขนละเอียด มีหมอนรองดอก ก้านดอกยาว 5 มิลลิเมตร กลีบรองดอกมี 5 กลีบ หนา โคนเชื่อมกันเล็กน้อย ขอบจักเป็นซี่ฟัน


  • ผลขันทองพยาบาท  ผลเป็นดอกเดี่ยวแต่ออกเป็นกระจุก มีลักษณะเกือบกลม ผิวผลเกลี้ยง มีขนาดประมาณ 2-5มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนสีเหลืองอมส้ม แตกตามพู มีพู 3 พู ภายในผลจะมีเมล็ดอยู่ 3 เมล็ด เมล็ดค่อนข้างกลม หนึ่งผลมี 3 เมล็ด ตามพูๆ ละ 1 เมล็ด มีขนาด 7-8 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเข้ม และมีเนื้อบางๆสีขาว (aril) หุ้มเมล็ดอยู่


ส่วนที่ใช้เป็นยา : เนื้อไม้, เปลือกต้น

สรรพคุณ ขันทองพยาบาท :

  • เนื้อไม้ จะมีรสเฝื่อนเมา ใช้รักษาอาการพิษในกระดูก ประดง รักษาโรคเรื้อน มะเร็งคุทราด กลากเกลื้อน ลมเป็นพิษ โรคผิวหนัง ฆ่าพยาธิ โรคผิวหนังทุกชนิด กามโรค
  • เปลือกต้น ใช้เป็นยาบำรุงเหงือก ใช้รักษาเหงือกอักเสบ และใช้เป็นยาถ่ายรักษาโรคตับพิการ โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

แก้น้ำเหลืองเสียโดยการนำรากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม, แก้ไข้, แก้กามโรค, แก้พิษในกระดูก, แก้โลหิตเป็นพิษ โดยใช้เนื้อไม้ หรือ แก่นขันทองพยาบาท ตากให้แห้งแล้วนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ฝนกับหินแล้วผสมน้ำดื่ม บำรุงเหงือก ใช้รักษาเหงือกอักเสบ ทำให้ฟันทน เหงือกแข็งแรง โดยใช้เปลือกมาต้มกับน้ำแล้วใช้อมบ้วนปากหลังแปรงฟัน ใช้รักษาโรคผิวหนัง ผดผื่นคัน รักษาโรคเรื้อน กลากเกลื้อน มะเร็งคุด โดยใช้เปลือกต้นนำมาต้มแล้วพอก หรือ ตำคั้นเอาแต่น้ำนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. เนื้อไม้ขันทองพยาบาท มีพิษทำให้เมา ดังนั้นในการใช้เป็นสมุนไพรจึงควรระมัดระวังในการใช้
  2. ในการใช้ส่วนต่างๆ ของขันทองพยาบาทเป็นสมุนไพรควรระมัดระวังการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้  ส่วนเด็กสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรวมถึงผู้ทีต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้ขันทองพยาบาทเป็นสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
Scroll to top