การบูร

การบูร

ชื่อสมุนไพร : การบูร
ชื่ออื่น ๆ 
: การบูร(ภาคกลาง), อบเชยญวน, พรมเส็ง(เงี้ยว), เจียโล่(ประเทศจีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cinnamomum camphora (L.) Presl.
ชื่อวงศ์ LAURACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นการบูร จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นทรงพุ่มกว้างและทึบ มีความสูงของต้นได้ถึง 30 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1.5 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล ผิวหยาบ ส่วนเปลือกกิ่งเป็นสีเขียวหรือเป็นสีน้ำตาลอ่อน ลำต้นและกิ่งเรียบไม่มีขน ส่วนเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลปนแดง เมื่อนำมากลั่นแล้วจะได้ “การบูร” ทุกส่วนของต้นการบูรจะมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะที่ส่วนที่ของรากและโคนต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปักชำ
    การบูร

  • ใบการบูร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี หรือรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 2.5-5.5 เซนติเมตร ยาว 5.5-15 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบป้านหรือกลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างเหนียว ด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอมเทาหรือนวล ไม่มีขน เมื่อขยี้จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นการบูร เส้นใบขึ้นตรงมาจากโคนใบประมาณ 3-8 มิลลิเมตร แล้วแยกออกเป็น 3 เส้น ตรงมุมที่มีเส้นใบแยกออกนั้นมีต่อม 2 ต่อม และตามเส้นกลางใบอาจมีต่อมเกิดขึ้นตรงมุมที่มีเส้นใบแยกออกไป ก้านใบยาว 2-3 เซนติเมตร ไม่มีขน ตาใบมีเกล็ดซ้อนเหลื่อมหุ้มอยู่ เกล็ดชั้นนอกเล็กกว่าเกล็ดชั้นในตามลำดับ


  • ดอกการบูร ดอกช่อแบบแยกแขนงออกตามเป็นกระจุกบริเวณง่ามใบ ดอกเล็กสีขาวอมเหลืองหรืออมเขียว ก้านดอกสั้นมาก กลีบรวมมี 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงละ 3 กลีบ รูปรี ปลายมน ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนละเอียด เกสรเพศผู้มี 9 อัน เรียงเป็น 3 วง วงละ 3 อัน อับเรณูของวงที่ 1 และวงที่ 2 หันหน้าเข้าด้านใน ก้านเกสรมีขน ส่วนอับเรณูของวงที่ 3 หันหน้าออกด้านนอก ก้านเกสรค่อนข้างใหญ่ มีต่อม 2 ต่อมอยู่ใกล้โคนก้าน  ต่อมรูปไข่กว้างและมีก้าน อับเรณูมีช่องเปิด 4 ช่อง เรียงเป็น 2 แถว แถวละ 2 ช่อง มีลิ้นเปิดทั้ง 4 ช่อง เกสรเพศผู้เป็นหมันมี 3 อัน อยู่ด้านในสุด รูปร่างคล้ายหัวลูกศร มีขนแต่ไม่มีต่อม รังไข่รูปไข่ ไม่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ไม่มีขน ปลายเกสรเพศเมียกลม ใบประดับเรียวยาว ร่วงง่าย มีขนอ่อนนุ่ม


  • ผลการบูร ผลเป็นรูปไข่หรือทรงกลม ผลมีเนื้อ ผลเป็นสีเขียวเข้ม มีขนาดยาวประมาณ 6-10 มิลลิเมตร เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ผลมีฐานรองดอกซึ่งเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นแป้นรองรับผล ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด


ส่วนที่ใช้เป็นยา : เนื้อไม้, เปลือกแระราก

สรรพคุณ การบูร :

  • เนื้อไม้ นำมากลั่นจะได้ “การบูร”  รสร้อนปร่าเมา ใช้ทาถูนวดแก้ปวด แก้เคล็ดบวม ขัดยอก แพลง แก้กระตุก แก้ปวดข้อ แก้ปวดเส้นประสาท แก้รอยผิวหนังแตก แก้พิษแมลงต่อย และโรคผิวหนังเรื้อรัง เป็นยาระงับเชื้ออย่างอ่อน ขับเหงื่อ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ไข้หวัด และขับลม บำรุงธาตุ บำรุงกำหนัด ยากระตุ้นหัวใจ บำรุงหัวใจ
  • เปลือกต้นและราก กลั่นได้การบูร แก้ปวดขัดตามเส้นประสาท ข้อบวมเป็นพิษ แก้เคล็ดบวม เส้นสะดุ้ง กระตุก ขัดยอกแพลง แก้ปวดท้อง ท้องร่วง ขับน้ำเหลือง แก้เลือดลม บำรุงกำหนัด ขับเหงื่อ ขับเสมะหะ บำรุงธาตุ แก้โรคตา กระจายลม ขับผายลม
    นำมาผสมเป็นขี้ผึ้ง เป็นยาร้อน ใช้ทาแก้เพื่อถอนพิษอักเสบเรื้อรัง ปวดยอกตามกล้ามเนื้อ สะบักจม ทรวงอก ปวดร้าวตามเส้นเอ็น โรคปวดผิวหนัง รอยผิวแตกในช่วงฤดูหนาว แก้พิษสัตว์กัดต่อย


ข้อมูลเพิ่มเติม :

  • บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้การบูร ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆในตำรับ ในยารักษาหลายกลุ่มอาการ ได้แก่  “ยาธาตุบรรจบ” มีสรรพคุณของตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียที่ไม่ติดเชื้อ เป็นต้น
  • ตำรับ “ยาแก้ลมอัมพฤกษ์” มีส่วนประกอบของการบูรร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณของตำรับในการบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา ตำรับ “ยาประสะไพล” มีส่วนประกอบของการบูรร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณของตำรับในการรักษาระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน  และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร ตำรับ “ยาเลือดงาม” มีส่วนประกอบของการบูร ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ ไม่ควรรับประทานการบูร
  2. ผู้ที่เป็นโรคท้องผูกริดสีดวงทวารปัสสาวะแสบขัดเป็นเลือดไม่ควรรับประทาน
  3. น้ำมันการบูรที่มีสีเหลืองหรือน้ำตาลห้ามใช้ เนื่องจากมีความเป็นพิษสูง
  4. ความเข้มข้นของกลิ่นการบูรที่มีมากอาจทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะปอดและตับได้
Scroll to top