กระแจะ

กระแจะ

ชื่อสมุนไพร : กระแจะ
ชื่ออื่น ๆ 
: กระแจะจัน ขะแจะ (ภาคเหนือ), ตุมตัง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, บ้างก็ว่าภาคกลาง), พญายา (ราชบุรี, ภาคกลาง), ตะนาว (มอญ), พินิยา (เขมร), กระแจะสัน, ตูมตัง, จุมจัง, จุมจาง, ชะแจะ, พุดไทร, ฮางแกง, ทานาคา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hesperethusa crenulata (Roxb.) Roem.
ชื่อวงศ์ : RUTACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกระแจะ เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น หรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เนื้อไม้สีขาว เปลือกต้นสีน้ำตาล ขรุขระ ลำต้นและกิ่งมีหนาม มีหนามแข็ง และยาว หนามออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ตรง ยาวได้ถึง 2.5 เซนติเมตร ไม่ผลัดใบ สูง 8-15 เมตร ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งต่ำ กิ่งก้านตั้งฉากกับลำต้น กิ่งอ่อนและยอดอ่อนเกลี้ยง 
  • ใบกระแจะ เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงสลับ ใบย่อย 4-13 ใบ รูปวงรีแกมไข่กลับ กว้าง 1.5-3 เซนติเมตร ยาว 2-7 เซนติเมตร ก้านใบแผ่เป็นปีก ลักษณะเป็นครีบออกสองข้าง เป็นช่วงๆ ระหว่างคู่ใบย่อย โคนและปลายใบสอบแคบ เนื้อใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง เนียน เกลี้ยง เมื่อส่องดูจะเห็นต่อมน้ำมันเป็นจุดใสๆกระจายอยู่ทั่วไป ขอบใบหยัก เป็นซี่ฟันเลื่อย ตื้นๆ เส้นแขนงใบข้างละ 3-5 เส้น ก้านช่อใบยาวได้ถึง 3 เซนติเมตร ไม่มีก้านใบย่อย 
  • ดอกกระแจะ ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ รวมกันเป็นกระจุกตามกิ่งเล็กๆหรือตามซอกใบ มีขนสั้นนุ่ม ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง กลีบดอกมี 4 กลีบ เมื่อบานจะแผ่ออกหรือลู่ไปทางก้านเล็กน้อย  กลีบดอกรูปไข่แกมรูปรี กว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ยาว 7 มิลลิเมตร เกลี้ยง มีต่อมน้ำมันประปราย เกสรตัวผู้มี 8 อัน ยาว 4-6 มิลลิเมตร ยาวเกือบเท่ากันหรือสลับกันระหว่างสั้นกับยาว เกลี้ยง ก้านชูอับเรณูรูปลิ่มแคบ อับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปไข่ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ปลายเป็นติ่งแหลมสั้นถึงติ่งแหลมอ่อน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกือบกลม ยาว 1-2 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมัน เกลี้ยง มี 4 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมันใต้ยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น 5 แฉก จานฐานดอกเกลี้ยง ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 2 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 8-10 มิลลิเมตร เกลี้ยง หรือมีขน กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้าง และยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ปลายแหลม ผิวด้านนอกมีขนละเอียด และมีต่อมน้ำมัน ด้านในเกลี้ยง 
  • ผลกระแจะ ผลสด รูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1 เซนติเมตร เมื่ออ่อนสีเขียว แก่จัดสีม่วงคล้ำ ก้านผลยาวได้ถึง 2 เซนติเมตร เมล็ดรูปเกือบกลม กว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร สีน้ำตาลอมส้มอ่อน มี 1-4 เมล็ด เนื้อไม้ เมื่อตัดมาใหม่ๆ จะมีสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน ถ้าทิ้งไว้นานๆจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนเหลืองอ่อน 

    พญายา

ส่วนที่ใช้เป็นยา :ใบ, ราก, ผล, ผลสุก, เปลือกต้น

สรรพคุณ กระแจะ :

  • ใบ รสขมเฝื่อน ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มกิน แก้ลมบ้าหมู 
  • ราก รสขมเย็น แก้โรคลำไส้ แก้ปวดท้องบริเวณลำไส้ใหญ่ และบริเวณลิ้นปี่ ขับเหงื่อ ฝนกับน้ำสะอาดใช้ทาหน้าแทนแป้งทำให้ผิวสีเหลือง แก้สิวฝ้า เป็นยาถ่าย 
  • ผล มีรสขมเฝื่อน แก้พิษ  แก้ไข้ แก้อาหารไม่ย่อย แก้ท้องอืดเฟ้อ เป็นยาบำรุงกำลัง ยาบำรุงร่างกาย 
  • ผลสุก แก้ไข้ เป็นยาสมานแผล ยาบำรุง ช่วยเจริญอาหาร แก่น รสจืด เย็น ดองเหล้ากินแก้กษัย (การป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม โลหิตจาง) บำรุงเลือด แก้กระษัย แก้โลหิตพิการ ดับพิษร้อน แก้ไข้ แก้ผอมแห้ง  
  • เปลือกต้น มีรสขม ใช้แก้ไข้ ขับผายลม บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น

ข้อมูลเพิ่มเติม :

  • เนื้อไม้ นำมาบด ฝน หรือทำให้เป็นผงละเอียด จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ใช้ทาผิวหนัง ทำให้ผิวเนียนสวย เป็นส่วนผสมหลักในเครื่องประทินผิวแบบโบราณหลายชนิด ใช้ผสมในเครื่องหอม ที่เรียกว่า   “กระแจะตะนาว” หรือ “ทานาคา” นิยมใช้กันมากในประเทศพม่า
  • ทานาคา

    ทานาคา
    ทานาคา
    • จากการวิจัยพบว่าต้นกระแจะมีสารสำคัญที่ชื่อว่า Marmesin เป็นสารที่ช่วยกรองแสงอัลตราไวโอเลตที่ก่อให้เกิดการเสื่อมของเซลล์ผิวหนัง โดยไปกระตุ้นการสังเคราะห์เอนไซม์แมทริกซ์-เมทัลโลโปรตีเนส-1 (matrix-metalloproteinase-1, MMP-1) ซึ่งจะไปตัดกับเส้นใยโปรตีนคอลลาเจนที่มีหน้าที่ช่วยคงความแข็งแรงและเพิ่มความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อผิวหนังและลดการสังเคราะห์โปร-คอลลาเจน โดยพบว่าสารสกัดจากลำต้นกระแจะสามารถช่วยยับยั้ง MMP-1 และช่วยเพิ่มการสร้างโปร-คอลลาเจน
    • ผงกระแจะและสารสกัดน้ำยังมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน ช่วยลดการเสื่อมของเซลล์ ช่วยต้านการอักเสบ และยังมีสาร Suberosin ที่มีฤทธิ์ในการช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งช่วยป้องกันและรักษาสิวได้
    • สาวชาวพม่าที่ทำงานตากแดดแต่ยังมีผิวสวยใส นั่นเป็นเพราะว่าลำต้นของกระแจะมีสารอาร์บูติน (Arbutin) อยู่ประมาณ 1.711 -0.268 มคก./ก. (เป็นสารที่ทำหน้าที่ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานินได้ ซึ่งเมลานินเป็นต้นเหตุของการเกิดฝ้า กระ และรอยหมองคล้ำด่างดำของผิว) อีกทั้งกระแจะยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (เอนไซม์ที่กระตุ้นในการเกิดเม็ดสีเมลานิน) เรียกได้ว่าร่วมด้วยช่วยกันในการออกฤทธิ์นั่นเอง
    • กลิ่นหอมของทานาคาหรือกระแจะนั้นมาจากในกลุ่มคูมาลิน 4 ชนิด (coumarins) ซึ่งเป็นสารที่ไม่มีความเป็นพิษต่อหน่วยพันธุกรรมและไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์แต่อย่างใด
    • ในปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบของทานาคาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนยุคใหม่มากขึ้น โดยจะเห็นได้จากผลิตภัณฑ์ผงทานาคาบดละเอียดที่สามารถนำมาใช้ได้เลย ไม่ต้องฝนกันให้เหนื่อย ส่วนที่เป็นชนิดครีมเลยก็มี แต่อย่างไรก็ตามควรทดสอบการแพ้กับท้องแขนของเราก่อน หากไม่มีอาการแพ้หรืออาการผิดปกติก็สามารถนำมาใช้กับใบหน้าได้
Scroll to top