กรรณิการ์

กรรณิการ์

ชื่อสมุนไพร : กรรณิการ์
ชื่ออื่น ๆ
: กณิการ์, กรณิการ์, กันลิกา (ภาคกลาง), สบันงา (ภาคเหนือ), ปาริชาติ(อินเดีย)
ชื่อสามัญ : Night Blooming Jasmine, Coral jasmine, Night jasmine
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nyctanthes arbortristis Linn.
ชื่อวงศ์ : VERBENACEAE  

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกรรณิการ์ เป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 3 – 4 เมตร ตามลำต้นจะมีรอยเป็นเส้นคาดรอยต้นเป็นช่วงๆ ไปตามข้อต้น เปลือกของลำต้นนั้นมีสีขาว ลักษณะของลำต้นและกิ่งก้านโดยเฉพาะส่วนที่เป็นแขนงและกิ่งอ่อนจะเป็นสี่เหลี่ยม บริเวณแนวสันเหลี่ยมของกิ่งหรือลำต้นมีตุ่มเล็ก ๆ ประเป็นแนวอยู่ด้วย

    ต้นกรรณิการ์

  • ใบกรรณิการ์ เป็นไม้ใบเดี่ยวแต่ออกเป็นคู่ๆ สลับกันไปตามข้อของต้น มีรูปมนรี ปลายใบแหลม มีสีเขียวและมีขนอ่อนๆ เป็นละอองปกคลุมอยู่ทั่วใบ มีลักษณะสากคายมือ

    กรรณิการ์

  • ดอกกรรณิการ์ สีขาว ออกเป็นช่อดอกเล็ก ๆ กระจายที่ปลายกิ่ง ประมาณช่อละ 5 – 8 ดอก แต่ละดอกมี 6 กลีบ กลีบดอกจะบิดเวียนไปทางขวาคล้ายกังหัน วงในดอกเป็นสีแสด หลอดดอกเป็นสีแสด เกสรเป็นเส้นเล็กละเอียดซ้อนอยู่ในหลอดดอก ขนาดของดอกบานเต็มที่ประมาณ 1.50 – 2 เซนติเมตร หลอดดอกยาว 1.50 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 – 8 แฉก ก้านช่อดอกมีใบประดับเล็กๆ 1 คู่ ดอกของกรรณิการ์มีกลิ่นหอมแรง บานกลางคืน ออกดอกตลอดปี

    กรรณิการ์

  • ผลกรรณิการ์ เป็นแผ่นแบนๆ ภายในมีเมล็ด 2 เมล็ด

    กรรณิการ์

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, เปลือกต้น, ดอก, ต้น, ราก

สรรพคุณ กรรณิการ์ :

  • ต้น รสขมเย็นหวานฝาด แก้ปวดศีรษะ แก้ปวดข้อ แก้ไข้ 
  • เปลือก รสขมเย็น ใช้เปลือกต้นชั้นใน ต้มดื่มแก้ปวดศีรษะ
  • ใบ รสขม เป็นยาบำรุงน้ำดี เจริญอาหาร เป็นยาระบาย แก้ตานขโมย แก้ไข้ แก้ปวดข้อ ใช้ใบสด 1 กำมือ ตำคั้นเอาแต่น้ำ 1 ถ้วยแก้ว แบ่งรับประทาน 4 ครั้ง เป็นยาขมเจริญอาหาร ถ้ารับประทานมากจะเป็นยาระบาย
  • ดอก รสขมหวาน บำรุงน้ำดี เจริญอาหาร แก้ตานขโมย แก้ปวดข้อ แก้ไข้ แก้ไข้ไม่รู้สติ แก้ไข้ผอมเหลือง แก้ตาแดง แก้ลมวิงเวียน แก้พิษทั้งปวง แก้โลหิตตีขึ้น  ใช้ทำน้ำหอม ก้านดอกสีส้ม นำมาคั้นน้ำได้สีเหลืองเข้ม ใช้ย้อมผ้าได้ 
  • ราก รสขมหวานฝาด แก้ท้องผูก แก้ลมวิงเวียน แก้ไอ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงเส้นผมให้ดกดำ แก้ผมหงอก เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงผิวหนังให้สดชื่น แก้ลมและดี แก้ไอ 
  • ต้นและราก รสหวานและฝาด ต้มหรือฝนรับประทานแก้ไอ สำหรับสตรีหลังคลอดบุตรใหม่ๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ปวดศีรษะ ปวดข้อ โดยใช้เนื้อไม้หรือเปลือกต้นชั้นในมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ช่วยเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี ขับน้ำดี แก้ไข้ โดยใช้ใบสดประมาณ 1 กำมือ เติมน้ำคั้นลงไปแล้วคั้นเอาแต่น้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใช้แบ่งรับประทาน 4 ครั้ง หากกินมากจะมีฤทธิ์เป็นยาระบาย
  • ใช้แก้พิษทั้งปวง ช่วยเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี แก้ปวดข้อ แก้ไข้ผอมเหลือง แก้ลมวิงเวียน แก้ตามขโมย โดยใช้ดอกมาตากแห้ง แล้วนำมาต้มน้ำดื่มหรือนำมาชงแบบชาก็ได้
  • ใช้แก้ท้องอืด ท้องผูก แก้ไอ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงผิวหนังโดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้บำรุงเส้นผม แก้ผมหงอก โดยใช้ใบนำไปแช่กับน้ำมันมะพร้าวประมาณ 1-2 คืน นำมาใช้ทาหมักผมก่อนนอน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ควรระวังการใช้กรรณิการ์ ในสตรีมีครรภ์ เนื่องจากมีการใช้เป็นสมุนไพรพื้นบ้านในหลายประเทศ ใช้ส่วนหลอดดอกเป็นสมุนไพร ขับประจำเดือน และการนำใบกรรณิการ์มาใช้ประโยชน์ควรระมัดระวังในการเก็บเนื่องจากใบค่อนข้างกระด้างอาจทำให้เกิดผื่นคันให้กับผิวหนังกับผู้ที่มีอาการแพ้ได้ ส่วนการใช้ใบตามสรรพคุณทางยา โดยการนำมาตำค้นเอาน้ำรับประทานควรรับประทานแต่พอดีเพราะหากรับประทานมากจะมีฤทธิ์ระบายอาจทำให้มวนท้องและไซท้องได้

Scroll to top