มะดูก

มะดูก

ชื่อสมุนไพร : มะดูก
ชื่ออื่นๆ :
ยายปลวก(สุราษฎร์ธานี), ไม้มะดูก(คนเมือง), บั๊กโค้ก(เขมร-สุรินทร์)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Siphonodon celastrineus Griff.
ชื่อวงศ์ : CELASTRACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • มะดูก เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 20-35 เมตร แตกกิ่งก้านทึบ เรือนยอดมีลักษณะกลมทึบ เปลือกต้นเป็นสีเทาอมดำแตกเป็นร่องตามยาว
    มะดูก
  • ใบมะดูก เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปค่อนข้างรีหรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบแถบเข้าหากัน ส่วนขอบใบเป็นหยักหรือจักเป็นซี่ฟันตื้นๆ จักห่างหรือแทบมองเห็นไม่ชัด ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3.5 นิ้ว และยาวประมาณ 1.5-9 นิ้ว แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม เส้นแขนงใบมีข้างละ 6-10 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีเขียวแก่ เมื่อแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวมะกอกหรือสีเขียวอมเทา
  • ดอกมะดูก ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ มีประมาณ 2-3 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 5-11 มิลลิเมตร บางทีมีจุดสีน้ำตาลแดง ดอกเป็นสีขาวนวลหรือสีเหลืองอมส้ม กลีบดอกเป็นรูปไข่หรือรูปรี มี 5 กลีบ ซ้อนทับกัน มีขนาดกว้างประมาณ 1.7-2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.2-3.5 มิลลิเมตร ปลายกลีบมน ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นรูปไจหรือกึ่งกลม ค่อนข้างมน ยาวได้ประมาณ 1-2 มิลลิเมตร กลางดอกมีเกสรเชื่อมติดกับกลีบดอกข้างใน ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านเกสรเพศผู้แบน ยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันที่ครึ่งหนึ่งหรือใกล้ๆ โคนดอก
  • ผลมะดูก มีลักษณะเป็นรูปกลมหรือรูปรี ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 นิ้ว และยาวประมาณ 1.5-3 นิ้ว ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกเต็มที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง ภายในมีเมล็ดรูปไข่หลายเมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ลำต้น, ราก

สรรพคุณ มะดูก :

  • ลำต้น  ยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย
  • ราก  ยาบำรุงกระดูก ดับพิษในกระดูก ยารักษาโรคมะเร็ง ยาแก้พิษฝีภายใน ฝีในตับ ฝีในปอด ฝีในกระดูก ยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน แก้ประดง น้ำเหลืองเสีย เข้าข้อออกดอก ยาแก้อาการปวดแสบปวดร้อน ยาแก้เส้นเอ็นพิการ ยาแก้อาการปวดกระดูกและข้อ
Scroll to top