ฝ้ายขาว

ฝ้ายขาว

ชื่อสมุนไพร : ฝ้ายขาว
ชื่ออื่น ๆ
: ฝ้ายหีบ (ไทย), เหมียวฮวา เฉ่าเหมียนฮวา (จีนกลาง), ฝ้ายดอก (เชียงใหม่), ฝ้ายชัน (ลำปาง), ฝ้ายเทศ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ฝ้ายตุ่น
ชื่อสามัญ : cotton plant
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gossypium herbaceum Linn.
ชื่อวงศ์ : MALVACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ฝ้ายขาว เป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดย่อม มีอายุได้หลายปี ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร แตกกิ่งก้านน้อย ลำต้นเป็นสีเขียวมีลักษณะตั้งตรง มีขนละเอียดขึ้นหนาแน่น
    ฝ้ายขาว
  • ใบฝ้ายขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง ใบแยกออกเป็นแฉก ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบและเว้าเป็นแฉก 3-5 แฉก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 2.5-8 เซนติเมตร
  • ดอกฝ้ายขาว ออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง มีใบประดับหุ้ม ปลายใบประดับฝ้ายขาวเป็นเส้นแหลมประมาณ 12 เส้น กลีบดอกบางมี 5 กลีบ กลีบดอกค่อนข้างกลมเป็นสีขาวอมเหลือง ออกเรียงซ้อนกัน แต่ละกลีบกว้างประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร เมื่อดอกบานเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีชมพู ใจกลางดอกเป็นสีม่วงอ่อน ๆ มีเกสรเพศผู้มากมายรวมอยู่ในดอก ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร และขอบเป็นฟันเลื่อย 6-8 หยัก
  • ผลฝ้ายขาว ลักษณะเป็นรูปกลม เป็นผลแห้ง แตกได้ตามพูเป็น 3-4 ซีก ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กสีดำหรือสีน้ำตาลจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลมและแข็ง ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีขนปุยสีขาวหุ้มเมล็ดอยู่ จะออกผลเมื่อดอกแก่ร่วงไปแล้ว

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เปลือกลำต้น และราก

สรรพคุณ ฝ้ายขาว :

  • เปลือกลำต้น  และราก  ใช้นำมาปรุงเป็นยาขับระดูขาว ขับประจำเดือน ทำให้มดลูกบีบตัว

ข้อห้ามใช้สตรีที่ตั้งครรภ์ ห้ามใช้รับประทานเพราะอาจทำให้เกิดการแท้งลูกได้ง่าย

Scroll to top