ชื่อสมุนไพร : ข้าวสารเถา
ชื่ออื่นๆ : ข้าวสารดอกใหญ่, มะโอเครือ, เครือเขาหนัง, ข้าวสารดอกใหญ่(กรุงเทพฯ), ข้าวสาร (ทั่วไป); เคือคิก(สกลนคร), เซงคุยมังอูหมื่อ, มังอุยหมื่อเซงครึย(กะเหรี่ยง-ลำปาง), มะโอเครือ, เครือเขาหนัง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Raphistemma pulchellum Wall.
ชื่อวงศ์ : ASCLEPIADACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นข้าวสารเถา จัดเป็นไม้เลื้อยขนาดเล็ก มียางขาว อยู่ในวงศ์เดียวกันกับต้นตีนเป็ด มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย เนปาล พม่า และมาเลเซีย ในประเทศไทยพบมากในบริเวณชายป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป หรือพื้นที่ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 400-1,300 เมตร
- ใบข้าวสารเถา เป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปหัวใจ โคนใบเว้า ปลายใบแหลมเป็นหาง ขอบใบเรียบ ขนาดกว้าง 4-15 เซนติเมตร ยาว 6-20 เซนติเมตร บริเวณกลางใบด้านบนมีขนขึ้นเป็นกระจุก ก้านใบ ยาว4-12 เซนติเมตร
- ดอกข้าวสารเถา ออกเป็นช่อตามซอกใบมีลักษณะคล้ายซี่ร่ม มีความยาวของก้านช่อดอกประมาณ 6-10 เซนติเมตร ในแต่ละช่อจะประกอบไปด้วยดอกย่อยสีขาวอมเหลืองประมาณ 4-10 ดอก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ส่วนปลายกลีบแยกออกเป็น 5 แฉก มีเกสรสีขาวอยู่กลางดอก มีกลีบเลี้ยงรูปขอบขนานจำนวน 5 กลีบ ที่โคนกลีบจะเชื่อมติดกันและแยกออกที่ปลายกลีบ ดอกมีกลิ่นหอม เมื่อบานเต็มที่แล้วจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 ซม. มักติดดอกในช่วงฤดูหนาว
- ผลข้าวสารเถา มีลักษณะเป็นฝักรูปโค้ง เมล็ดรูปไข่มีขนเป็นพู่ยาวได้ถึง 4 เซนติเมตร
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, เมล็ด
สรรพคุณ ข้าวสารเถา :
- ราก ปรุงเป็นยา หยอดรักษาตา แก้ตาแดง ตาแฉะ ตามัว
- เมล็ด ใช้เป็นยาแก้ไข้ ช่วยขับเหงื่อ
ส่วนที่เป็นพิษ เมล็ด ควรใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากภายในเมล็ดจะมีสาร Cardiac glycoside ที่มีความเป็นพิษต่อหัวใจ
การขยายพันธุ์ : ทำได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าวสารเถาจะเป็นดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ ต้องการน้ำในปริมาณปานกลาง และต้องการได้รับแสงในขนาดปานกลางจนถึงค่อนข้างมาก สามารถปลูกเลี้ยงและดูแลรักษาได้ง่าย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในการบำรุงต้นให้เจริญเติบโต