ขี้ตุ่น

ขี้ตุ่น

ชื่อสมุนไพร : ขี้ตุ่น
ชื่ออื่นๆ :
ปอขี้ตุ่น, ปอขี้ไก่, ไม้หมัด, ปอเต่าไห้ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ป่าเหี้ยวหมอง, หญ้าหางอ้น, เข้ากี่น้อย (ภาคตะวันออก), ปอมัดโป (ภาคตะวันตกเฉียงใต้), ขี้อ้น (ภาคตะวันออกเฉียงใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Helicteres angustifolia Linn.
ชื่อวงศ์ : STERCULIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นขี้ตุ่น จัดเป็นไม้ล้มลุมอายุหลายปี หรือ ไม้พุ่มขนาดเล็กมีระบบรากที่แข็งแรง ลำต้นตั้งตรง สามารถสูงได้ ถึง 3 เมตร ลำต้น และกิ่งมีขนปุยสีน้ำตาลรูปดาวขึ้นปกคลุมหนาแน่น
  • ใบขี้ตุ่น เป็นใบเดี่ยวดอกเรียงเวียน รอบลำต้นลักษณะเป็นรูปใบหอก หรือ ขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 2-5 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร โคนใบมนกลม ปลายมน หรือ เรียวแหลม ขอบในเรียบ แผ่นใบบาง หรือ บางที่อาจหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวด้านบนมีขนรูปดาวประปราย ผิวด้านล่างมีขนรูปดาวขึ้นหนาแน่น มีเส้นจากโคนใบ 3-5 เส้น เป็นร่องทางด้านบน มีก้านใบ ยาว 6-8 มิลลิเมตร
  • ดอกขี้ตุ่น ดอกออกเป็นช่อกระจุกสั้น บริเวณซอกใบ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ส่วนดอกย่อยใน 1 ช่อ มีได้ถึง 8-14 ดอก มีใบประดับขนาดเล็ก รูปแถบ ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยง ยาว 5-8 มิลลิเมตร โคนเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก ไม่เท่ากัน ปลายหลอด กว้าง 2.5-3 มิลลิเมตร มีขนสั้นทั้งสองด้าน กลีบดอกสีชมพูอมม่วง หรือ ขาว รูปแถบกึ่งรูปช้อน ขนาดไม่เท่ากัน มี 5 กลีบ แยกกัน ยาวกลีบ 7-8 มิลลิเมตร โคนกลีบสอบเป็นก้าน มีติ่ง 2 ติ่ง ปลายกลม หรือ ตัดผิวกลีบมีขน กลีบดอก 3 กลีบ แรกตั้งตรงและมีกระจุกขนบริเวณกลางกลีบ ส่วนอีกสองกลีบ งอบริเวณกลางกลีบ และไม่มีขน
  • ผลขี้ตุ่น เป็นแบบผลแห้งแตก ลักษณะรูปไข่ แกมรูปทรงกระบอกแบ่งเป็นพู 5 พู กว้าง 1.2-1.5 เซนติเมตร ยาว 2-3 เซนติเมตร มีขนฟูปกคลุมหนาแน่น เมล็ด สีดำรูปไข่ หรือสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ราก, ทั้งต้น

สรรพคุณ ขี้ตุ่น :

  • ใบ รสเฝื่อนขม ตำพอก หรือทา แก้คางทูม สมานบาดแผล
  • ราก รสเฝื่อนขม ต้มดื่มแก้หวัดแดด แก้ร้อนใน แก้บิดเรื้อรัง
  • ทั้งต้น รสเฝื่อนขม ต้มดื่มแก้หวัดแดด แก้ปวดท้อง แก้อาหารเป็นพิษ แก้ปวดเมื่อยเนื่องจากถูกความร้อนความเย็นหรือแดดและลมมาก แก้ฝีประคำร้อย กัดเสมหะ สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน เพราะอาจทำให้แท้งได้

ข้อมูลเพิ่มเติม :

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ทั้งในตำรายาไทยและตำรายาจีน ได้มีระบุข้อควรระวังในการใช้ขี้ตุ่นว่า “สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ปอขี้ตุ่นเป็นสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทาน เนื่องจากมีฤทธิ์ที่อาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้”

สำหรับประโยชน์หลักๆ ของขี้ตุ่น คือ การถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรโดยมีการนำมาใช้ตั้งแต่ในอดีตแล้ว ทั้งในตำรายาไทย และตำรายาจีนโบราณ ส่วนการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นก็มีเพียงประปรายเช่น มีการนำผิวลำต้นมาขดแล้วนำมาผสมกับเปลือกยางบงในการทำธูปหอม

ถิ่นกำเนิดขี้ตุ่น

ปอขี้ตุ่น จัดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดกระจายเป็นวงกว้าง ได้แก่ บริเวณจีนตอนใต้รวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม พม่า ลาว ไทย และกัมพูชา จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนและเขตอบอุ่นใกล้เคียง สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้เกือบทั่วทุกภาคของประเทศ ยกเว้นภาคใต้ โดยจะพบได้บริเวณเขาหินปูนป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 50-1000 เมตร

Scroll to top