กระดูกไก่ดำ

กระดูกไก่ดำ

ชื่อสมุนไพร : กระดูกไก่ดำ
ชื่ออื่น ๆ
: บัวลาคำ , เกี๋ยงผา(ภาคเหนือ), เฉียงพร้ามอญ , สันพร้ามอญ,สำมะงาจีน, เฉียงพร้าบ้าน,เฉียงพร้าม่าน,ผีมอญ (ภาคกลาง),กะลาดำ,กระดูกดำ (จันทบุรี),แสนทะแมน,ปองดำ(ตราด),เฉียงพร้า(สุราษฎร์ธานี),ซ่าเลิมหลาม(ไทยใหญ่) ,กรอกะโต๊ะ (กะเหรี่ยง) , ปั๋วกู่ตาน(จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gendarussa vulgaris Nees
ชื่อวงศ์ ACANTHACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกระดูกไก่ดำ เป็นพรรณไม้พุ่มเล็ก มีลำต้นสูงประมาณ 90-100 เซนติเมตร ลักษณะของลำต้น และกิ่งเป็นปล้องข้อ คล้ายกระดูกไก่ ขนาดข้อลำต้นยาวประมาณ 2.5-3 นิ้ว ข้อของกิ่งยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว ลำต้น ใบ กิ่งก้าน มีสีแดงเรื่อ

    กระดูกไก่ดำ

  • ใบกระดูกไก่ดำ มีลักษณะเป็นรูปหอกโคนและปลายแหลม เส้นกลางใบสีแดงขนาดใบกว้าง 0.5-1.5 นิ้ว ยาวประมาณ 3-5 นิ้ว ก้านใบสั้น

    ใบกระดูกไก่ดำ กระดูกไก่ดำ

  • ดอกกระดูกไก่ดำ ออกเป็นช่อบริเวณปลายดอก ช่อยาวประมาณ 2-3 นิ้ว ลักษณะของดอก กลีบดอกมีสีขาวอมเขียว แกมชมพู โคนกลีบดอกติดกัน ส่วนปลายกลีบแยกเป็นกลีบล่างบน ลักษณะกลีบล่างโค้งงอนเหมือนช้อน ข้างในหลอดดอกมีเกสรตัวผู้ 2 อัน ซึ่งจะโผล่พ้นหลอดออกมา
    กระดูกไก่ดำ
  • ผลกระดูกไก่ดำ มีลักษณะเป็นฝัก ยาวประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตร

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ราก

สรรพคุณ กระดูกไก่ดำ :

  • ใบ นำใบสดมาตำและเอาน้ำมาดื่ม แก้ปวดศีรษะ โรคหืด ไอ อัมพาต
    นำมาตำคั้นน้ำมาผสมกับเหล้ากิน แก้ไอ อาเจียนเป็นเลือด ช้ำใน ขับปัสสาวะ บวมตามข้อ
    กากของใบนำมาพอกแผลที่พิษอสรพิษขบกัด
    ใบนำมาต้มและดื่ม แก้ช้ำใน แก้ไข้ ลดความร้อน ขับเลือดข้นในร่างกายให้กระจาย
  • รากและใบ ใช้แก้ไอ แก้ไข้ แก้เลือดคั่งค้าง ช่วยกระจายเลือดลม ช่วยขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย
    ตำผสมกันแล้วนำมาพอกแผล ถอนพิษ
    นำมาต้มใช้อาบน้ำแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง กระดูกไก่ดำ

  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. 2540. สารานุกรมสมุนไพร. โอเดียนสโตร์:กรุงเทพมหานคร.
  2. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. 2539. พจนานุกรม สมุนไพรไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4 .ประชุมทองการพิมพ์: กรุงเทพมหานคร.
Scroll to top