กกลังกา

กกลังกา

ชื่อสมุนไพร :        กกลังกา
ชื่ออื่นๆ 
:               กกขนาก, กกต้นกลม, หญ้าสเล็บ, หญ้าลังกา, กกดอกแดง (พระนครศรีอยุธยา)
                             กกรังกา, หญ้ากก, หญ้ารังกา (กรุงเทพฯ)
                             จิ่วหลงทู่จู (จีนกลาง)
                             เฟิงเชอเฉ่า (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อสามัญ :            Umbella plant, Flatsedge
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyperus alternifolius L.
ชื่อวงศ์ :                CYPERACEAE 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกกลังกา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ขึ้นเป็นกอตามที่ลุ่มชื้นหรือชายน้ำ มีลำต้นออกเป็นกอมีหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน คล้ายจำพวกขิงหรือเร่ว ลำต้นมีความสูงประมาณ 100-150 เซนติเมตร ลักษณะของลำต้นตั้งตรงไม่มีกิ่งก้าน ลำต้นกลมมีสีเขียว
    กกลังกา
  • ใบกกลังกา จะออกแผ่ซ้อน ๆ กัน อยู่ปลายยอดของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปยาว ปลายใบแหลม กว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 18-19 เซนติเมตร ใบมีสีเขียว ริมขอบ ใบเรียบใต้ท้องใบสาก ลำต้นหนึ่งจะมีใบประมาณ 18-25 ใบ
  • ดอกกกลังกา ออกเป็นกระจุก อยู่รวมกันเป็นใบ ดอกมีขนาดเล็ก เป็นสีขาวแกมเขียว ก้านดอกเป็นเส้นเล็ก ๆ สีเขียว ยาวประมาณ 6-7 เซนติเมตร ดอกแก่เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน
    กกลังกา
  • ผลกกลังกา ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรียาว รูปรี หรือรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 0.4-0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.9-1 มิลลิเมตร ผลเป็นสีน้ำตาล เปลือกแข็ง มีเมล็ดเดียว

ส่วนที่ใช้เป็นยา   : ลำต้น, ใบ, ดอก, ราก, เหง้า

สรรพคุณ กกลังกา :

  • ลำต้น รสจืดเย็น นำมาต้มเอาน้ำดื่ม ช่วยขับน้ำดีให้ตกลงลำไส้ ขับลมในลำไส้  ขับปัสสาวะ
  • ใบ รสเย็นเบื่อ ใช้เป็นยาฆ่าพยาธิซึ่งเป็นตัวนำเชื้อโรคทั้งหมด โขลกพอกฆ่าพยาธิบาดแผล ต้มเอาน้ำดื่มฆ่าพยาธิหรือเชื้อโรคภายใน (ฆ่าพยาธิที่เป็นพวกแบคทีเรียหรือเชื้อรา ไม่ใช่พยาธิปากขอ ไส้เดือน)
  • ดอก รสฝาดเย็น น้ำต้มดอก ใช้อมกลั้วคอแก้โรคในปาก เช่น แผลเปื่อยเป็นแผลพุพอง หรือปากซีด
  • ราก รสขมเอียน ต้มหรือตำกับเหล้าคั้นเอาน้ำรับประทานแก้ช้ำใน และอาการตกเลือดจากอวัยวะภายใน เป็นยาแก้ช้ำภายใน ขับเลือดเน่าเสียออกจากร่างกาย
  • เหง้า รสขม ต้มเอาน้ำดื่ม หรือบดเป็นผงละลายน้ำร้อนรับประทาน เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้เสมหะมาก ช่วยขับน้ำลาย และขับเสมหะเป็นยาแก้เสมหะเฟื่อง แก้ธาตุพิการ และเป็นยาทำให้อยากอาหาร

ถิ่นอาศัย และการขยายพันธุ์

กกลังกาเป็นพันธุ์ไม้มักจะขึ้นตามบริเวณที่ ๆ เป็นโคลนหรือน้ำ เช่นข้างแม่น้ำ ลำคลอง สระ หรือบ่อน้ำ และที่ลุ่มทั่วไปอยู่ในทวีปแอฟริกา มีการขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อและใช้เมล็ด

สภาพนิเวศ : ร่มรำไร

สภาพนิเวศวิทยา : พบตามธรรมชาติในพื้นที่ชุ่มชื้นและอยู่ต่ำกว่าระดับทะเลปานกลาง 400 ม.

ถิ่นกำเนิด : มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก

การกระจายพันธุ์ : ภาคตะวันออกของแอฟริกาและเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ (คาบสมุทรอาหรับ)

การปลูกและการขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการแยกกอ

ระยะเวลาการติดดอก : พฤษภาคม-ธันวาคม

ระยะเวลาการติดผล : –

ประเภทการใช้ประโยชน์ : พืชประดับ ปลูกประดับสวน


แหล่งข้อมูลอ้างอิง กกลังกา :

  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. 2540. สารานุกรมสมุนไพร. โอเดียนสโตร์:กรุงเทพมหานคร.
  2. นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. 2547.  สมุนไพรไทย เล่ม 1. ฐานการพิมพ์ จำกัด:กรุงเทพมหานคร.
  3. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ.  2549.  มุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. พิมพ์ครั้งที่ 2. บริษัทสามเจริญพาณิชย์(กรุงเทพฯ)จำกัด : กรุงเทพมหานคร.
  4. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.  2539. พจนานุกรม สมุนไพรไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4 .ประชุมทองการพิมพ์ : กรุงเทพมหานคร.
  5. อุทัย สินธุสาร.  2545. สมุนไพร ร้านเจ้ากรมเป๋อ. พิมพ์ครั้งที่ 2 .โรงพิมพ์ธรรมสาร : กรุงเทพมหานคร.

ภาพประกอบ :

  • ชัยยยุทธ บุญฑริกรัตน์. (2550). กกลังกา. [Image]. จาก www.samunpri.com
Scroll to top