สลัดไดป่า

สลัดไดป่า

ชื่อสมุนไพร : สลัดไดป่า
ชื่ออื่นๆ
: เคียะผา, เคียะเลี่ยม, หงอนงู, กะลำพัก, กระลำพัก, พญาครุฑ
ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Euphorbia antiquorum L.
ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นสลัดไดป่า ไม้ยืนต้น สูง 3 – 6 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 22 เซนติเมตรลำต้นแก่มักตั้งตรง และมีเปลือกสีน้ำตาล ต้นที่ยังไม่แก่มักมีผิวเรียบ สีเขียว ลำต้นทรงกระบอก แตกกิ่งก้านมาก กิ่งก้านมี 3 มุม เป็นรูปสามเหลี่ยม อวบน้ำ บริเวณสันขอบเป็นหยักมีหนามสีดำออกเป็นคู่ตามร่องหยัก ทุกส่วนมีน้ำยางขาว
    สลัดไดป่า
  • ใบสลัดไดป่า เป็นใบเดี่ยว ขนาดเล็กมาก กว้าง 0.1 เซนติเมตร ยาว 0.4 เซนติเมตร เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมไข่กลับ ปลายใบและโคนใบมน แผ่นใบเรียบ อวบน้ำ ไม่มีก้านใบ โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบกลม ผิวเกลี้ยง ร่วงง่าย 
  • ดอกสลัดไดป่า เป็นดอกช่อรูปถ้วย ออกเป็นกลุ่มที่ซอกใบ หรือตามแนวสันเหนือหนาม กลุ่มละ 3 ช่อ มีต่อมสีเหลืองอ่อน 5 ต่อม เรียงเป็นวง ๆ รอบปากถ้วย ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้น มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก เกสรตัวเมีย มีรังไข่รูปทรงกลมมี 3 พู มีใบประดับสีเหลือง 5 ใบ
  • ผลสลัดไดป่า มีลักษณะเป็นผลแห้งแตกได้ มี 3 พู สีน้ำตาลเข้ม เมล็ดทรงรูปไข่แกมทรงกลม ผิวเกลี้ยง สีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อนพบในที่สูงจากระดับน้ำทะเล 800 เมตร

ส่วนที่ใช้เป็นยา : แก่น(กระลำพัก), ต้น, น้ำยาง

สรรพคุณ สลัดไดป่า :

  • “กระลำพัก” เป็นชื่อเรียกเครื่องยาที่ได้จากแก่นของต้นสลัดไดแก่ที่ยืนต้นตาย ทำให้แก่นเปลี่ยนเป็นเนื้อไม้แข็ง รสขมกลิ่นหอม แก้ไข้ บำรุงหัวใจ บำรุงตับ และปอด แก้พิษเสมหะ โลหิต แก้ธาตุพิการ และเป็นตัวยาที่สำคัญในยาพื้นของการตั้งตำรับยาหอม
  • ต้น รสเมาเบื่อเอียน ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในท้อง 
  • น้ำยาง รสร้อนเมาเบื่อ ทาฆ่าพยาธิโรคผิวหนังต่าง ๆ ทากัดหูด ต้องนำมาฆ่าฤทธิ์เสียก่อน ใช้ปรุงยา ถ่ายอุจจาระ ถ่ายพิษเสมหะ และโลหิต ถ่ายหัวริดสีดวงลำไส้ และริดสีดวงทวารหนัก ขับโลหิตเน่าร้าย เป็นยาถ่ายอย่างแรง เมื่อถูกผิวหนังทำให้ระคายเคือง

ส่วนที่เป็นพิษ : น้ำยางสีขาว
สารพิษ : เป็นสารพวก deoxyphorbol เช่น euphorbin มี tetracyclic diterpene เป็นต้น
การเกิดพิษ : น้ำยางถ้าถูกผิวหนังจะคันแดงแสบ ถ้าเข้าตา ตาจะอักเสบ ถ้ารับประทานยางเป็นยาถ่ายอย่างแรง
การรักษา :

ถ้าถูกภายนอก
1. ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้ง
2. ใช้ยาที่เข้าสเตียรอยด์ทา

ถ้ารับประทาน
1. ให้เอาส่วนที่เหลือออกให้มากที่สุด โดยให้รับประทาน activated chrcoal (ถ่าน)
2. ล้างท้องหรือทำให้อาเจียน
3. รักษาตามอาการ

Scroll to top