ไคร้น้ำ

ไคร้น้ำ

ชื่อสมุนไพร : ไคร้น้ำ
ชื่ออื่นๆ :
ไคร้หิน, ไคร้, แร่, แลแร, สี่ทีโค่, กะแลแร, แกลแร
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Homonoia riparia Lour.
ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นไคร้น้ำ เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 2-5 เมตร มักขึ้นตามโขดหินริมลำธาร ตามแม่น้ำ หรือบริเวณชายฝั่งทะเลที่น้ำท่วมถึง
  • ใบไคร้น้ำ หูใบเป็นรูปใบหอกหรือเป็นรูปลิ่ม มีความยาวประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร ร่วงได้ง่าย ส่วนลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกหรือรูปแถบ มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ปลายใบยาวแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นจักแบบฟันเลื่อย มีต่อมตามจัก แผ่นใบด้านล่างมีสีนวล ใบมีเส้นแขนงใบอยู่ข้างละ 13-16 เส้น ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.4-1.5 เซนติเมตร
  • ดอกไคร้น้ำ ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ดอกตัวผู้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูปรีหรือเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 0.3-0.4 เซนติเมตร ก้านเกสรสูงประมาณ 0.3-0.6 เซนติเมตร ส่วนดอกตัวเมียมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.2 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 0.1-0.2 เซนติเมตร รังไข่กลม มีขนละเอียด และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.1-0.2 เซนติเมตร ส่วนก้านเกสรตัวเมียสั้นมาก ยอดแยกเป็น 3 แฉก แต่ละแฉกยาวได้ประมาณ 0.3 เซนติเมตร
  • ผลไคร้น้ำ ผลมีลักษณะกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.3-0.4 เซนติเมตร มีขนสั้นและนุ่ม ในผลมีเมล็ด เมล็ดเป็นรูปไข่ มีขนาดประมาณ 0.2 เซนติเมตร และมีเยื่อหุ้มสีแดง

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, แก่น, ต้น, ยางจากต้น, ใบ, ผล

สรรพคุณ ไคร้น้ำ :

  • ราก มีรสจืด ใช้ขับปัสสาวะ แก้กระษัย ปัสสาวะพิการ แก้ชำรั่ว
  • แก่น ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้
  • ต้น นำมาต้มน้ำดื่มเป็นยาขับเหงื่อ
  • ยางจากต้น กินแก้ไข้มาลาเลีย
  • ใบ, ผล ใช้ตำพอกแก้ผิวหนังผื่นคันบางประเภท โดยให้ดื่มน้ำต้มใบและผลด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม :

เป็นพรรณไม้ที่ขึ้นอยู่ตามริมน้ำหรือริมห้วย ซึ่งรากของต้นนั้นจะแช่อยู่ในน้ำเป็นฝอยเป็นไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้น ส่วนมากจะพบทางภาคเหนือ จังหวัดที่มีมากคือ ตาก หรือมีขึ้นไปเรื่อยตามเกาะแก่งลำน้ำปิง

นอกจากนี้ยอดอ่อนของต้นยังใช้รับประทาน จิ้มกับน้ำพริกได้อร่อยอีกด้วย และเนื้อไม้ภายในเปลือกนั้น นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ คั่วผสมยาสูบซึ่งทางเหนือจะเรียกว่า ขี้โย

Scroll to top