โมกเครือ

โมกเครือ

ชื่อสมุนไพร : โมกเครือ
ชื่ออื่นๆ :
เครือไส้ตัน (นครราชสีมา, หนองคาย), เดื่อเครือ, เดื่อดิน, เดื่อเถา, เดื่อไม้, โมกเครือ (ภาคเหนือ), เดือยดิน (ประจวบคีรีขันธ์), เดือยดิบ (กระบี่), มะเดื่อดิน (ทั่วไป), มะเดื่อเถา (ราชบุรี, ภาคเหนือ), ย่านเดือยบิด (สุราษฎร์ธานี), พิษ (ภาคกลาง), ย่านเดือยบิด, ไส้ตัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aganosma marginata (Roxb.) G. Don
ชื่อวงศ์ : APOCYNACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นโมกเครือ เป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลำต้น สูง 5-12 เมตร แตกกิ่งก้านน้อย เลื้อยพันต้นไม้อื่น ไม่มีมือเกาะ เถาอ่อนสีน้ำตาลแดง เถาแก่สีเทา ตามลำต้นมีช่องอากาศกระจายทั่วไป ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวขุ่น
    โมกเครือ
  • ใบโมกเครือ ลักษณะใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม กว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 6.5-8.5 เซนติเมตร ก้านใบเรียวเล็ก ยาว 2.5 มิลลิเมตร เส้นใบชัดเจน เชื่อมปิดที่ขอบใบ ใบรูปขอบขนาน หรือรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเป็นคลื่น เส้นใบ 7-15 คู่ เส้นขอบในนูนเด่นชัด ก้านใบยาว 0.4-1.1 ซม. เกลี้ยง ยอดอ่อนสีน้ำตาลแดง แผ่นใบเป็นคลื่น สีเขียวเข้มเป็นมันวาว ด้านหลังใบเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ด้านท้องใบมีขนสั้นๆ ใบแก่เกลี้ยงสีเขียวเข้มเป็นมัน
  • ดอกโมกเครือ ออกเดอกป็นช่อกระจะที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายกลีบแยก ดอกย่อยสีขาวเกลี้ยง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบ เรียงเวียนกัน ดอกตูมกลีบออกบิดไปทางเดียวกัน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปรีแกมรูปหอก สีเขียวอ่อน โคนเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้มี 5 อัน ก้านเกสรติดกับอับเรณูด้านฐาน บริเวณโคนก้านมีกระจุกขน เกสรเพศเมียมีรังไข่เหนือวงกลีบ มี 2 ห้อง แยกกัน
  • ผลโมกเครือ ผลเป็นฝักคู่ เรียวยาว ทรงกลม ปลายแหลม กว้าง 0.5-1.2 เซนติเมตร ยาว 30-50 เซนติเมตร เกลี้ยง เมื่อแห้งแตกตามยาวตะเข็บเดียว เมล็ดจำนวนมากสีน้ำตาล แต่ละผลมี 35-62 เมล็ด เมล็ดรูปขอบขนาน กว้าง 0.7-1.2 เซนติเมตร ยาว 1.6-4.7 เซนติเมตร มีขนสีขาวเป็นพู่ติดอยู่ที่ปลายเมล็ด ยาว 2.2-5.3 เซนติเมตร ปลิวตามลม

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เถา, รากยอด, ใบ

สรรพคุณ โมกเครือ :

  • เถา รสเฝื่อนฝาด ใช้ทาฝี แก้เมื่อยขบ แก้ผดผื่นคัน  นำมาผสมกับผลมะตูมอ่อน เถาสิงโต และว่านมหากาฬ ต้มน้ำดื่มรักษาโรคเบาหวาน เข้ายารักษาประดง แก้พิษภายใน
  • ราก รสฝาดสุขุม ต้มดื่มแก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้ไตและตับพิการ บำรุงกำลังตอนฟื้นไข้ ช่วยเจริญอาหาร เป็นยาระบาย ขับระดู หรือผสมกับแก่นลั่นทม ต้มน้ำดื่ม เป็นยาระบาย
  • ยอด ใช้แก้ท้องเสีย
  • ใบ แก้เมื่อยขบ เข้ายาทารักษาฝี และริดสีดวงทวาร
Scroll to top