โกฐเชียง

โกฐเชียง

ชื่ออื่น : โกฐเชียง, ตังกุย, กุยบ๊วย
ชื่อสามัญ : Dong quai , Chinensis Angelica , Eemale ginseng
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Angelica sinensis (Oliv.) Diels
ชื่อวงศ์ : UMBELLIFERAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นโกฐเชียง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีความสูงได้ประมาณ 40-100 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีร่องเล็กน้อย เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมม่วง ส่วนของเหง้าหรือรากที่อยู่ใต้ดินนั้นมีขนาดใหญ่ ลักษณะอวบหนาเป็นรูปทรงกระบอก แยกเป็นรากแขนงหลายราก ผิวเปลือกรากภายนอกเป็นสีน้ำตาล เนื้อในนิ่ม


  • ใบโกฐเชียง ใบเป็นใบเดี่ยว หยักลึกแบบขนนก 2-3 ชั้น ลักษณะเป็นรูปไข่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 30 เซนติเมตร แฉกใบมีก้านเห็นได้ชัดเจน มักแยกเป็นแฉกย่อย 2-3 แฉก ส่วนขอบใบหนักเป็นฟันเลื่อยไม่สม่ำเสมอ มีก้านใบยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร โคนแผ่เป็นครีบแคบ ๆ สีเขียวอมม่วง

  • ดอกโกฐเชียง ออกดอกเป็นช่อบริเวณยอดของลำต้นหรือตามง่ามใบ ช่อดอกมีลักษณะเป็นช่อแบบซี่ร่มเชิงประกอบ มีช่อย่อยขนาดไม่เท่ากันประมาณ 10-30 ช่อย่อย ก้านช่อดอกนั้นยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร ใบประดับมีไม่เกิน 2 ใบ ดอกเป็นสีขาวหรือเป็นสีแดงอมม่วง ในแต่ละก้านจะมีดอกย่อยประมาณ 13-15 ดอก ส่วนกลีบดอกนั้นมี 5 กลีบ ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม


  • ผลโกฐเชียง ผลเป็นแบบผลแห้งแยก มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร สันด้านล่างหนาแคบ ด้านข้างมีปีกบาง ขนาดกว้างเท่ากับความกว้างของผล และมีท่อน้ำมันตามร่อง ติดผลในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก

สรรพคุณ โกฐเชียง :

  • ราก ใช้แก้ไข้ แก้สะอึก แก้ไอ แก้หอบ แก้เสียดแทงสองราวข้าง รักษาความผิดปกติของประจำเดือน ปวดประจำเดือน ใช้รักษาอาการปวดท้อง ปวดข้อ และอาการปวดหลังจากการผ่าตัด แก้ท้องผูก ตับอักเสบเรื้อรัง บำรุงโลหิต กระจายโลหิต

ข้อมูลเพิ่มเติม :

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้ในสตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีระบบขับถ่ายไม่ดี ท้องเสียบ่อย ร้อนใน หรือเคยอาเจียนเป็นเลือด และไม่ควรรับประทานหากมีประจำเดือนมามาก นอกจากจะได้รับคำแนะนำให้รับประทานจากแพทย์แผนตะวันออกที่มีความรู้ในด้านโภชนาการ

  • จีนนิยมใช้โกฐเชียงมาก “รากแก้วส่วนบน” จีนเรียก “ตังกุยเท้า” ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ส่วนรากแขนงนั้นจีนเรียก (ตัง)กุยบ๊วย ใช้เป็นยาขับระดู
  • แพทย์แผนจีนใช้เครื่องยาชนิดนี้ในยาเกี่ยวกับโรคเฉพาะสตรี เช่น อาการปวดเอว ประจำเดือนผิดปกติ ภาวะขาดประจำเดือน เช่น อาการร้อนวูบวาบ เป็นยาขับประจำเดือน แก้รกตีขึ้น แก้ไข้บนกระดานไฟ เกี่ยวกับอาการเลือดออกทุกชนิด แก้หวัด แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ตกมูกเลือด สตรีจีนนิยมใช้โกฐเชียงเป็นยากระตุ้นอวัยวะเพศ เพื่อให้ปรนนิบัติสามีได้ดีและเพื่อให้มีลูกดก ใช้ในภาวะขาดน้ำ ความผิดปกติของเส้นประสาท

รากโกฐเชียง รากสดมีลักษณะอวบเป็นรูปทรงกระบอก แยกเป็นรากแขนงหลายราก โดยรากนั้นจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนหัว ส่วนราก และส่วนรากแขนง ส่วนของรากแห้งเป็นรูปแกมทรงกระบอก ปลายแยกออกเป็นแขนง 3-5 แขนง หรือมากกว่านั้น โดยมีความยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ผิวด้านนอกนั้นเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองถึงสีน้ำตาล รากมีรอยย่นเป็นแนวตามยาว รอยช่องอากาศตามแนวขวาง ผิวไม่เรียบ และมีรอยควั่นเป็นวง ๆ มีขนาดประมาณ 6-7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร และมีรอยแผลเป็นของใบปรากฏอยู่ตอนบน ซึ่งโกฐเชียงในตำรายาไทยนั้นจะหมายถึง ส่วนของรากแขนง โดยรากแขนงแห้งนั้นจะเป็นสีน้ำตาล แกมเทาจาง ๆ มีลักษณะเป็นเส้นยาว มีรอยควั่นเป็นวง ๆ รากแขนงนั้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร และยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร ตอนบนหนา ส่วนตอนล่างเรียวเล็ก ส่วนมากจะบิด เนื้อจะเหนียว รอยหักสั้นและนิ่ม รอยหักของเหง้าแสดงว่ามีผิวหนามากเกือบถึงครึ่งเหง้า มีต่อมน้ำยางสีน้ำตาลหรือสีเหลืองแกมแดงออกเป็นแนวรัศมีจากกลางเหง้า ส่วนที่เป็นเนื้อสีเหลืองนั้นจะมีรูพรุน แกนเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมแรงเฉพาะ ฉุน มีรสหวานอมขม และเผ็ดเล็กน้อย

Scroll to top