โกฐสอ

โกฐสอ

ชื่ออื่น : โกฐสอ, แปะจี้, แป๊ะลี้(จีนแต้จิ๋ว), ไป๋จื่อ(จีนกลาง)
ชื่อสามัญ :  Angelicaroot , Dahurian Angelica
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Angelica dahurica Benth.
ชื่อวงศ์ : UMBELLIFERAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นโกฐสอ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นค่อนข้างสูงประมาณ 1-2.5 เมตร ลำต้นตั้งตรงอวบสั้น โคนต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีสีม่วงแต้มเล็กน้อย ส่วนรากมีลักษณะอวบใหญ่เป็นรูปกรวยยาว ไล่ลำดับจากใหญ่ไปหาเล็ก เนื้อแน่นแข็ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร หรือมากกว่านั้น อาจแยกแขนงที่ปลาย รากมีกลิ่นหอมฉุน


  • ใบโกฐสอ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น ออกเรียงเวียน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม มีขนาดกว้างได้ถึง 40 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 50 เซนติเมตร มีก้านใบยาว โคนใบแผ่เป็นกาบ ส่วนใบย่อยไม่มีก้าน มีลักษณะเป็นรูปรีแคบถึงรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 1-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเป็นครีบเล็กน้อย ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยห่างๆใบตอนบนจะลดรูปเป็นกาบ 


  • ดอกโกฐสอ ช่อดอกออกเป็นแบบช่อซี่ร่วมเชิงประกอบ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง เส้นผ่าศูนย์กลาง 10-30 เซนติเมตร สีขาวมีใบประดับไม่เกิน 2 ใบ คล้ายกาบหุ้มช่อดอกเมื่อยังอ่อนอยู่ โดยดอกเป็นช่อย่อย 18-40 ช่อ มีขนสั้นๆ มีกลีบดอก 5 กลีบ


  • ผลโกฐสอ ผลเป็นแบบผลแห้งแยก ลักษณะของผลเป็นรูปรีกว้าง ด้านล่างแบนราบ สันด้านล่างกว่าร่อง ส่วนสันด้านข้างจะแผ่เป็นปีกกว้าง ตามร่องจะมีท่อน้ำมัน

ส่วนที่ใช้เป็นยา : หัว-เหง้า

สรรพคุณ โกฐสอ :

  • หัว-เหง้า ใช้แก้ไข้ แก้หืด แก้ไอ ทำหัวใจให้ชุ่มชื่น แก้เสมหะเป็นพิษ แก้สะอึก แก้หลอดลมอักเสบ แก้ไข้จับสั่น 
    จีนนิยมใช้ยานี้มานานแล้ว โดยมักใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด แก้ปวดหัว โพรงจมูกอักเสบ แก้ปวดฟัน  แก้ริดสีดวงทวารหนัก แก้อาการทางผิวหนังต่างๆ เช่น แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก บวม แก้ริดสีดวงจมูกโดยเตรียมเป็นยานัตถุ์
    จีนถือว่ายานี้เป็นยาเฉพาะสตรี จึงใช้ยานี้เป็นยาเกี่ยวกับระดู เช่น ใช้แก้ตกขาว อาการปวด บวมแดง นอกจากนั้นยังใช้ผสมในเครื่องสำอางบำรุงผิวหน้าหลายชนิด

ข้อมูลเพิ่มเติม :

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรไม่ควรใช้โกฐสอเพราะอาจส่งผลกระทบต่อบุตรได้
  2. ไม่ควรใช้โกฐสอเกิดขนาดที่กำหนดไว้และไม่ควรใช้ในระยะเวลาติดต่อกันนานเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
  3. มีรายงานการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาว่าหากใช้โกฐสอในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะ ความดันโลหิตสูง มีอาการอาเจียน และเป็นอัมพาตได้

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • จากตำรับยาต่างๆที่ใช้โกฐสอเป็นส่วนประกอบมีการกำหนดขนาดการใช้ในรูปแบบของยาผงในขนาดการใช้วันละ 3-9 กรัม (น้ำหนักยา)
  • นอกจากนี้ยังมีการใช้รากแห้งต้มดื่มตามตำรายาจีน เช่น รักษาจมูกอักเสบหรือไซนัส ใช้โกฐสอ 10 กรัม, อึ่งงิ้ม 10 กรัม, ซิงอี๊ 10 กรัม, ซังหยือจี้ 8 กรัม และกัวกึ้งอีก 20 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานเช้าเย็น 3-5 เทียบ แก้ปวดกระดูกสันหลังขึ้นหัว ด้วยการใช้โกฐสอ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานวันละ 2 ครั้ง
  • ส่วนสำหรับการใช้เป็นยาภายนอก เพื่อรักษาอาการทางผิวหนัง เช่น ไฟไหม้ น้ำร้อนลวกหรือ มีอาการปวดบวม ขับฝีหนอง ใช้โกฐสอมาบดเป็นผงผสมกับน้ำส้มสายชู แล้วนำมาทาหรือพอกบริเวณที่มีอาการ เป็นต้น

ในปัจจุบันมีการนำโกฐสอมาใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น นำมาเป็นส่วนประกอบสำหรับใช้ทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรต่างๆ เช่น น้ำเลี้ยงจุ๊ย , น้ำจับเลี้ยง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำโกศสอมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางต่างๆ เช่น ครีมทาหน้า เซรั่มบำรุงผิวหน้า รวมถึงครีมโลชั่นต่างๆ อีกด้วย ส่วนสรรพคุณทางยาของโกฐสอนั้น ชาวจีนนิยมใช้เป็นยาสมุนไพรมานานแล้ว โดยตำราแพทย์แผนจีนระบุว่า โกฐสอมีรสเผ็ด อุ่น มีฤทธิ์ขับเหงื่อ แก้อาการหวัดจากการกระทบลมเย็นภายนอก (ปวดศีรษะ คัดจมูก) มีฤทธิ์เปิดทวาร บรรเทาปวด แก้อาการปวดศีรษะ(โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะด้านหน้า) ปวดฟัน ลดอาการคัดจมูกจากไข้หวัดหรือโรคโพรงจมูกอักเสบ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ลดบวม ขับหนอง แก้พิษแผลฝีหนอง บวมเป็นพิษ 

Scroll to top