เปราะป่า

เปราะป่า

ชื่อสมุนไพร : เปราะป่า
ชื่ออื่นๆ :
ตูบหมูบ ว่านตูบหมูบ (อุบลราชธานี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), เปราะเถื่อน (ปราจีนบุรี, ชุมพร), เปราะ หัวหญิง (กระบี่), เปราะเขา เปราะป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kaempferia pulchra Ridl.
ชื่อวงศ์ : ZINGIBERACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • เปราะป่า เป็นพืชลงหัวขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 3-5 เซนติเมตร มีเหง้าสั้น และรากเป็นกระจุก หรือเหง้าสั้น และมีขนาดเล็ก ลักษณะของเหง้าเป็นรูปทรงกลม สีน้ำตาล ที่ผิวมีรอยข้อปล้องอย่างชัดเจน ออกรากจากเหง้าหลักเป็นเส้นกลมยาว เหง้ามีกลิ่นหอม
  • ใบเปราะป่า ใบเป็นใบเดี่ยว ใบอ่อนม้วนเป็นกระบอกตั้งขึ้น ใบแก่แผ่ราบบนหน้าดิน ไม่มีก้านใบ ต้นหนึ่งเปราะป่ามักมี 2 ใบ ใบทรงกลมโต หรือรูปรี กว้าง 8-14 เซนติเมตร ยาว 5-11.5 เซนติเมตร มีสีเขียวเข้ม ขอบใบมีสีม่วงแดง ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่ม ผิวบนเรียบ ด้านล่างมีขน กาบใบยาวราว 5 เซนติเมตร กาบใบที่ไม่มีใบยาวราว 3 เซนติเมตร ลิ้นใบรูปสามเหลี่ยม ยาวราว 4 มิลลิเมตร ช่อดอกแทงออกตรงกลางระหว่างกาบใบทั้งสอง กลีบดอกเป็นหลอดยาวราว 4 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นกลีบ รูปแถบ กลีบหลังยาว และกว้างกว่ากลีบข้าง กลีบหลังกว้างราว 0.5 เซนติเมตร ยาว 2.5 เซนติเมตร กลีบข้างกว้างราว 0.3 เซนติเมตร ยาวราว 2.4 เซนติเมตร
  • ดอกเปราะป่า ดอกสีขาว กลีบดอกบอบบาง มีดอกย่อย 6-8 ดอก ใบประดับสีขาวอมเขียว รูปใบหอก เปราะป่ากว้างราว 1 เซนติเมตร ยาวราว 3.2 เซนติเมตร  เกสรตัวผู้ที่เป็นหมันสีขาว รูปไข่กลับแกมรูปลิ่ม กว้างราว 1 เซนติเมตร ยาวราว 2 เซนติเมตร กลีบปากสีม่วง มีแถบสีขาวระหว่างเส้นกลางกลีบกับขอบกลีบ รูปไข่กลับแกมรูปลิ่ม กว้างราว 1.8 เซนติเมตร ยาวราว 2.2 เซนติเมตร ปลายหยักลึกมาก เกสรตัวผู้เกือบไม่มีก้าน หรือมีก้านยาวราว 1 มิลลิเมตร อับเรณูยาวราว 4 มิลลิเมตร รังไข่ขนาดกว้างราว 2 มิลลิเมตร ยาวราว 4 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นหลอดยาว ราว 2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 2 แฉก
  • ผลเปราะป่า รูปไข่ สีขาว แตกเป็น 3 พู เมล็ดทรงรูปไข่ สีน้ำตาล ชอบขึ้นตามดิน หรือเกาะอยู่ตามโขดหิน

ส่วนที่ใช้เป็นยา : หัว

สรรพคุณ เปราะป่า :

  • หัว รสเผ็ดขมจัด แก้ไข้ แก้หวัด แก้กำเดา ขับลมในลำไส้ ตำผสมกับหัวหอม สุมกระหม่อมเด็ก แก้หวัดและกำเดา
Scroll to top