หมามุ่ย

หมามุ่ย

ชื่ออื่น : บะเหยือง หมาเหยือง (ภาคเหนือ) โพล่ยู (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) กลออื้อแซ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mucuna pruriens (L.) DC. ชื่อพ้อง M. prurita Hook.f.
วงศ์ : Leguminosae – Papilionaceae
ชื่อสามัญ : Cowitch , Cowhage

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เลื้อย ใบ ประกอบ คล้ายใบถั่วฝักยาว คือมี 3 ใบย่อย ใบย่อยรูปไข่ปลายแหลม มีขนทั่วไป ดอก ช่อ ดอกย่อย แบบดอกถั่ว สีม่วงแก่ ออกตามง่ามใบแถวปลายยอด ฝักแก่จัดสีเหลืองทองถึงเหลืองแก่ มีขนค่อนข้างยาว ถ้าสัมผัสจะคัน ฝักแก่จัดขนจะร่วงปลิวไป

หมามุ่ยมีหลายชนิด
ชนิดที่ 1 ฝักจะไม่ยาวมาก ประมาณ 5-7 เซนติเมตร ฝักตรง
ชนิดที่ 2 ฝักจะยาวกว่าชนิดแรกเล็กน้อย แต่ปลายฝักจะงอนออก ยาว 5-8 เซนติเมตร
ชนิดที่ 3 เป็นหมามุ่ยใหญ่ (หมามุ่ยช้าง, สะบ้าลิง) ฝักรูปทรงกระบอกค่อนข้างแบน ผิวผลย่นๆ เป็นสันและยาวกว่า 2 ชนิดแรก ยาว 10-12 เซนติเมตร ขนสีน้ำตาลแดง

ส่วนที่เป็นพิษ : ขนจากฝัก

สารพิษและสารเคมี : ขนมี mucunain enzyme สามารถย่อยโปรตีนได้ ในขนมี serotonin เป็นสารกระตุ้น ให้ร่างกายคนหลั่ง histamine ก่อให้เกิดการแพ้ผื่นคัน บวมแดง

อาการเกิดพิษ : ผิวหนังเมื่อถูกขนหมามุ่ย จะคัน ระคายเคือง ปวดแสบปวดร้อน บวมแดง

การรักษา : ให้พยายามเอาขนออกให้หมด โดยใช้เทียนไขลนไฟ ให้นุ่ม หรือข้าวเหนียวที่นึ่งแล้ว คลึงจนกระทั่งขนหลุดหมด แต่ถ้าไม่มีของพวกนี้ อาจใช้ถูไปมาบนผม ถ้าเป็นผมสั้นๆ จะได้ผลดี เมื่อคลึงเอาขนหลุดหมดแล้ว ถ้ายังคันให้ทายาคาลาไมน์หรือครีมที่มีสเตียรอยด์ เช่น ครีมพวกเพนนิโซโลน และรับประทานยาแก้แพ้ทุก 6 ชั่วโมง

Scroll to top