ส้มกุ้ง

ส้มกุ้ง

ชื่อสมุนไพร : ส้มกุ้ง
ชื่ออื่นๆ :
กุ่ย (อุบลราชธานี), เครืออีโกย อีโก่ย (นครราชสีมา), เถาเปรี้ยว (กรุงเทพมหานคร), เถาวัลย์ขน (ราชบุรี), ส้มกุ่ย (สระบุรี), ส้มออบ (นครศรีธรรมราช), ส้มกุ้ง (ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช), องุ่นป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ampelocissus martinii Planch.
ชื่อวงศ์ : Vitaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นส้มกุ้ง เป็นไม้เถาเลื้อย มักเกาะพันต้นไม้อื่น ไม่ผลัดใบ มีมือเกาะออกตามข้อมักออกตรงข้ามกับใบ เถาเป็นปล้อง กิ่งอ่อนยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม เถาแก่สีน้ำตาลแดง มักมีร่องยาวตามแนวยาวของเถา เถาแก่แข็งมีเนื้อไม้
  • ใบส้มกุ้ง ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปหัวใจ หยักเว้า 3-5 แฉก กว้างประมาณ 10-13.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร โคนใบเว้ารูปหัวใจ ปลายใบแหลมหรือมน ขอบใบหยักซี่ฟันแหลม ขอบใบเว้าเป็น 3-5  แฉก ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ผิวด้านล่างมีขนสั้นหนานุ่มสีแดงปกคลุม ก้านใบมีขน เส้นใบหลักออกมาจากจุดเดียวกันที่ฐานใบ
    ส้มกุ้ง
  • ดอกส้มกุ้ง ดอกช่อ แบบช่อแยกแขนงขนาดใหญ่ ออกตรงข้ามกับใบและโคนเถา ยาวประมาณ 7.5 เซนติเมตร เถาที่ออกดอกและติดผล ใบจะร่วงหมด ดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดเล็ก กลีบรวมสีชมพู กลางดอกสีแดงเข้ม เกสรเพศผู้มี 5 อัน เกสรเพศเมียอยู่เหนือวงกลีบ
  • ผลส้มกุ้ง ผลสด รูปทรงกลม เป็นพวงแน่นคล้ายพวงองุ่น เส้นผ่านศูนย์กลางผล 2-3 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกสีแดงคล้ำเมล็ดมี 1-2 เมล็ด มีเปลือกหุ้มแข็ง
    ส้มกุ้ง

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, เถา, ราก

สรรพคุณ ส้มกุ้ง :

  • ใบ  เป็นยาแก้ไอ แก้ช้ำใน แก้หอบหืด ขับฟอกโลหิตระดู
  • เถา ขับฟอกโลหิตระดู เป็นยาระบายอ่อนๆ และแก้ไอ
  • ราก เป็นยาถ่ายพรรดึก (แก้ท้องผูก) แก้ช้ำใน และแก้ไอ

ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ราก ฝนน้ำดื่ม แก้ไข้ ผสมลำต้นหรือรากรสสุคนธ์ เหง้าสับปะรด ลำต้นไผ่ป่า ลำต้นไผ่ดง งวงตาล เปลือกต้นสะแกแสง ลำต้นหรือรากเถาคันขาว ผลมะพร้าว ลำต้นรักดำ ลำต้นก้อม ลำต้นโพ หญ้างวงช้างทั้งต้น รากกะตังใบ เปลือกต้นมะม่วง ลำต้นหนามพรม รากลำเจียก ลำต้นอ้อยแดง ลำต้นเครือพลูช้าง เหง้ายาหัว และเปลือกต้นกัดลิ้น ต้มน้ำดื่ม แก้ฝี รักษาอาการบวม

Scroll to top