สบู่ดำ

สบู่ดำ

ชื่อสมุนไพร : สบู่ดำ
ชื่ออื่น ๆ
: สบู่หัวเทศ, สลอดดำ, สลอดป่า, สบู่ดำ, สลอดใหญ่, สี่หลอด(ภาคกลาง), หมักเยา, มะเยา, มะหัว, มะหุ่งฮั้ว, มะโห่ง, หงเทก(ภาคเหนือ), หมาเฟิงสู้(จีนกลาง), มั่วฮวงชิ่ว(แต้จิ๋ว)
ชื่อสามัญ : Barbados Nut, Purge Nut, Curcas Bean, Physic Nut
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jatropha curcas Linn.
ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นสบู่ดำ เป็นไม้พุ่มยืนต้น สูงประมาณ 2-8 เมตร  เป็นต้นไม่ที่มีอายุยืนมากกว่า 20 ปี ทุกส่วนของลำต้นมีน้ำยางสีขาวปนเทา ลำต้น เปลือกเรียบ เกลี้ยงเกลา จะเติบโตได้ดีในเขตร้อน
  • ใบสบู่ดำ จะเป็นใบเดี่ยว ลักษณะคล้ายกับใบละหุ่ง เรียงสลับกัน รูปค่อนข้างกลม หรือ ไข่ป้อม ๆ กว้าง 7-11 เซนติเมตร ยาว 7-16 เซนติเมตร ปลายใบแหลม  ขอบใบเรียบ หรือ มีรอยหยัก 3-5 หยัก ฐานใบเว้าเป็นรูปหัวใจ เส้นใบออกจากจุดเดียวกันที่โคนใบ 5-7 เส้น ตามเส้นใบมีขนอ่อนปกคลุม ก้านใบยาว 6-18 เซนติเมตร
    สบู่ดำ
  • ดอกสบู่ดำ ดอกจะมีสีเหลือง ออกเป็นช่อที่ยอด และตามง่ามใบ ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกยาว 6-10 เซนติเมตร ดอกเพศผู้ มีกลีบรองกลีบดอก 5 กลีบ ยาว 4-5 มิลลิเมตร กลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นหลอด ภายในหลอดมีขน เกสรผู้ 10 อันเรียงเป็น 2 วง ๆ ละ 5 อัน อับเรณูตั้งตรง. ดอกเพศเมีย กลีบดอกไม่ติดกัน รังไข่ และท่อรังไข่เกลี้ยง บางทีก็มีเกสรผู้ฝ่อ 5 อัน; ภายในรังไข่มี 2-4 ช่อง มีไข่อ่อนช่องละ 1 หน่วย
  • ผลสบู่ดำ กลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร แก่จัดจะแตกเป็น 3 พู แต่ละพูมี 2 กลีบ เมล็ด รูปกลมรี สีดำ ผิวเกลี้ยง อายุของผลสบู่ดำตั้งแต่ออกดอกจนถึงผลแก่จะมีอายุประมาณ 60-90 วัน
    สบู่ดำ

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ต้น, ใบ, ผล, เมล็ด

สรรพคุณ สบู่ดำ :

  • ราก  น้ำต้มรากใช้กินเป็นยาแก้ท้องเสีย ทำให้อาเจียน ระบาย และใช้ทาถูนวดแก้ปวดตามข้อ
  • ต้น  น้ำยางต้นสดใช้เป็นยาห้ามเลือด จะออกฤทธิ์คล้ายสารประเภท collodion ใช้เฉพาะที่ สำหรับรักษาโรคริดสีดวงทวาร และแก้โรคผิวหนังบางชนิด กิ่งก้านทุบใช้แปรงฟันแก้เหงือกบวมอักเสบ
  • ใบ  ใบแห้งใช้ชงกับน้ำร้อนกินแก้ไอ แก้ท้องเสีย ท้องร่วง ลดไข้ แก้ไอ อมบ้วนปากช่วยให้เหงือกแข็งแรง ทาแก้คัน และทาภายนอกช่วยขับน้ำนม น้ำคั้นใบใช้ทาท้องเด็กแก้ธาตุพิการ หรือ ใช้ทาถูนวดแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ทาแผลเรื้อรัง ทาฝี ลดอาการอักเสบ
  • ผลและเมล็ด  ผลกินเป็นยาถ่ายพยาธิ แก้บิด ท้องเสีย และแก้อาการกระหายน้ำ ส่วนเมล็ดเป็นพิษมาก มีคุณสมบัติเป็นยาเสพติดที่มีฤทธิ์กัดทำลาย ใช้ทางยาเป็นยาถ่าย โดยกินเมล็ดที่กะเทาะเปลือกออกแล้วนำมาย่างไฟเล็กน้อย จำนวน 3-5 เมล็ด สกัดได้น้ำมันกึ่งระเหย กินเป็นยาถ่ายอย่างแรง ทำให้อาเจียน แก้น้ำเหลืองเสีย ตับอักเสบทาเฉพาะที่แก้คัน บวมแดง และน้ำมันนวดที่เตรียมขึ้นจากน้ำมันเมล็ด 1 ส่วน ผสมกับ Bland oil 3 ส่วน ใช้ทาถูนวดแก้ปวดตามข้อ แก้คัน แก้ปวดเมื่อย และทาบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ
Scroll to top