พลับพลึง

พลับพลึง

ชื่อสมุนไพร : พลับพลึง
ชื่ออื่น ๆ
: ลิลัว(ภาคเหนือ), พลับพลึง(ภาคกลาง), พลับพลึงดอกขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crinum asiaticum Linn.
ชื่อวงศ์ : AMARYLLIDACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นพลับพลึง เป็นพรรณไม้ล้มลุกขึ้นเป็นกอ และมีหัวอยู่ใต้ดิน ลำต้นกลมมีความกว้างประมาณ 15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 30 เซนติเมตร
    พลับพลึง
  • ใบพลับพลึง จะออกรอบ ๆ ลำต้น ลักษณะใบแคบยาวเรียว ใบจะอวบน้ำ ขอบใบจะเป็นคลื่น ตรงปลายใบจะแหลม ใบจะมีความยาวประมาณ 1 เมตร และกว้างประมาณ 10-15เซนติเมตร
  • ดอกพลับพลึง จะออกเป็นช่อ ตรงปลายจะเป็นกระจุกมีประมาณ 12-40 ดอก ตอนดอกยังอ่อนอยู่จะมีกาบเป็นสีเขียวอ่อน ๆ หุ้มอยู่ 2 กาบ ก้านช่อดอกจะมีความยาวประมาณ 90 เซนติเมตร ดอกมีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร กลีบดอกจะเป็นสีขาว และมีกลิ่นหอม เกสรตัวผู้จะมีอยู่ 6 อัน ติดอยู่ที่หลอดดอกตอนโคน ตรงปลายเกสรมีลักษณะเรียวแหลมยาวเป็นสีแดง โคนเป็นสีขาว ส่วนอับเรณูนั้น จะเป็นสีน้ำตาล
  • ผลพลับพลึง ผลจะเป็นสีเขียวอ่อน และผลค่อนข้างกลม

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, หัว, เมล็ด, ราก

สรรพคุณ พลับพลึง :

  • ใบ จะมีรสเอียน นำไปต้มกินทำให้อาเจียน หรือใช้ใบพันรักษาอาการฟกช้ำ บวม เคล็ด ขัด ยอก แพลง จะถอนพิษได้ดี หรือจะใช้ใบพลับพลึงอย่างเดียว หรืออาจใช้ปนกับชนิดอื่น ๆ แล้วนำไปตำปิดบริเวณที่ปวด ใช้รักษาอาการปวดศีรษะ อาการบวม และลดอาการไข้
  • หัว จะมีรสขม ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ขับเสมหะ เป็นยาระบาย ทำให้คลื่นเหียน อาเจียน รักษาโรคที่เกี่ยวกับปัสสาวะ รักษาโรคเกี่ยวกับน้ำดี
  • เมล็ด ใช้เป็นยาบำรุง ยาระบาย ขับเลือดประจำเดือน และขับปัสสาวะ
  • ราก เคี้ยวให้แหลกจนเป็นน้ำ แล้วกลืนเอาแต่น้ำเข้าไป จะทำให้อาเจียน ใช้รักษาพิษยางน่อง หรือใช้ตำพอกแผล
Scroll to top