ดูกอึ่ง

ดูกอึ่ง (แกลบหนู)

ชื่อสมุนไพร : ดูกอึ่ง
ชื่ออื่นๆ :
กระดูกเขียด, กระดูกอึ่ง, กระดูกอึ่งใหญ่, แกลบหูหนู, แปรงหูหนู, แกลบหนู, อึ่งใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrolobium lanceolatum (Dunn.) Schindl.
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAEPAPILIONOIDEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นดูกอึ่ง ไม้พุ่มลำต้นตั้งตรง สูง 1-2 เมตร กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลอ่อนหนาแน่น เปลือกต้นสีน้ำตาล ผิวเรียบ
  • ใบดูกอึ่ง ใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ เรียงสลับ มี 3 ใบย่อย ใบย่อยที่ปลาย ยาว 1.5-4 เซนติเมตร กว้าง 0.8-1.7 เซนติเมตร รูปรีหรือรูปหอก ฐานใบมน ปลายใบมน มีติ่งแหลม ขอบใบเรียบ ใบย่อยคู่ข้าง ยาว 1.2-3 เซนติเมตร กว้าง 0.6-1.5 เซนติเมตร รูปขอบขนานแกมรูปรี หลังใบเกลี้ยง ท้องใบที่ผิวใบด้านล่างมีขนสีน้ำตาลนุ่ม มีหูใบที่โคนก้านใบ และโคนใบย่อย ก้านใบยาว 0.5-2 เซนติเมตร เส้นแขนงใบข้าง 4-7 คู่ ยาวไม่ถึงขอบใบ
  • ดอกดูกอึ่ง ช่อดอก แบบช่อซี่ร่ม เป็นรูปคล้ายดอกถั่ว สีเหลืองอ่อน ออกที่ซอกใบ ยาว 5-10 มิลลิเมตร ดอกย่อยประมาณ 10 ดอก ก้านดอกย่อยยาว 2 มิลลิเมตร มีขนหนาแน่น กลีบเลี้ยง ขนาด 4 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันตรงโคน ปลายแยกเป็น 4 กลีบ สีเขียวแกมเหลือง กลีบดอก สีขาวแกมเหลืองอ่อน กลีบกลาง รูปไข่กลับขนาด 6-9 × 5-6 มิลลิเมตร กลีบคู่ข้าง รูปขอบขนานขนาด 5-6 × 1.5-2 มิลลิเมตร กลีบคู่ล่าง รูปขอบขนานแกมรูปรีขนาด 7-9 × 2.5 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้มี 10 อัน ขนาด 7-8 มิลลิเมตร เชื่อมกันเป็นสองกลุ่ม เกสรเพศเมีย มีรังไข่รูปไข่  มีขน ก้านชูยาว 7 มิลลิเมตร
  • ผลดูกอึ่ง ผลเป็นฝักรูปวงรีกว้าง หรือรูปเกือบกลม แบน ผนังหนาขนาด 4-10 × 3-7 มิลลิเมตร ก้านสั้น เมล็ด มี 1 เมล็ด รูปไตแข็ง ขนาดประมาณ 3 × 2 มิลลิเมตร ผิวมันวาว

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก

สรรพคุณ ดูกอึ่ง :

  • ราก ต้มเอาน้ำดื่ม แก้ไตพิการ โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ มีปัสสาวะขุ่นข้น เหลืองหรือแดง มักมีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้ ผสมกับรากโมกมัน รากกาสามปีกใหญ่ รากเกล็ดปลาหมอและรากหางหมาจอก ต้มน้ำดื่ม แก้คุณไสย อาการผอมแห้ง ใจสั่น บางเวลาร้องไห้
Scroll to top