งา

งา

ชื่อสมุนไพร : งา
ชื่ออื่น ๆ
 : งาดำ (ทั่วไป),ไอยู่มั้ว (จีน)
ชื่อสามัญ : Black Sasame seeds Black
ชื่อวิทยาศาสตร์  Sesamum indicum  Linn.
ชื่อวงศ์ PEDALIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นงา เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุฤดูเดียว มีลำต้นตั้งตรง อาจแตกกิ่งหรือไม่แตกกิ่งแขนง ลำต้นสูงประมาณ 50-150 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะสีเหลี่ยม มีร่องตามยาว ไม่มีแก่น มีลักษณะอวบน้ำ และมีขนสั้นปกคลุม เปลือกลำต้นบาง มีสีเขียว
    งา
  • ใบงา ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกันเป็นชั้นๆตามความสูง ประกอบด้วยก้านใบสั้น ยาวประมาณ แผ่นใบมีรูปหอก สีเขียวสด กว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-16 เซนติเมตร โคนใบมนกว้าง ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเล็กน้อย มีเส้นแขนงใบตรงข้ามกันเป็นคู่ๆยาวจรดขอบใบ
  • ดอกงา เป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มตรงซอกใบ จำนวน 1-3 ดอก ดอกย่อยมีก้านดอกสั้น มีกลีบรองดอก จำนวน 5 กลีบ ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นกรวย ห้วยลงดิน กลีบดอกอ่อนมีสีเขียวอมเหลือง กลีบดอกเมื่อบานมีสีขาว ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กลีบล่าง และกลีบบน โดยกลีบล่างจะยาวกว่ากลีบบน ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 2 คู่ มี 1 คู่ยาว ส่วนอีกคู่สั้นกว่า ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 อัน มีก้านเกสรยาว 1.5-2 เซนติเมตร ปลายก้านเกสรแหว่งเป็น 2-4 แฉก
  • ผลงา ผลงาดำเรียกว่า ฝัก มีลักษณะทรงกระบอกยาว ผิวฝักเรียบ ปลายฝักแหลมเป็นติ่ง และแบ่งออกเป็นร่องพู 2-4 ร่อง กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว และมีขนปกคลุม ฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีดำอมเทา จากนั้น ร่องพูจะปริแตก เพื่อให้เมล็ดร่วงลงดิน  ภายในฝักมีเมล็ดขนาดเล็ก สีดำจำนวนมาก เมล็ดเรียงซ้อนในร่องพู เมล็ดมีรูปรี และแบน ขนาดเมล็ดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เปลือกเมล็ดบางมีสีดำ มีกลิ่นหอม แต่ละฝักมีเมล็ดประมาณ 80-100 เมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ดอกงา, เมล็ดงา

สรรพคุณ งา :

  • ดอก รักษาหูด
  • เมล็ด มีรสฝาด หวาน ขม   เป็นยาระบายอ่อนๆ บำรุงกำลัง ทำให้ร่างกายมีความอบอุ่น แต่ทำให้ดีกำเริบ ช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยบำรุงผม ผิวพรรณ กระดูก เล็บ ช่วยระบบขับถ่ายดีขึ้น ช่วยป้องกันโรคภาวะกระดูกพรุน แก้เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ ปวดบวม ลดการอักเสบ เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยในการเผาผลาญและสลายไขมัน ลดความอ้วน บำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยให้นอนหลับสบาย มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ  ชะลอความแก่ ป้องกันการเกิดโรคเหน็บชา บรรเทาอาการของโรคริดสีดวงทวาร
  • น้ำมันงา รสฝาดร้อน ใช้ทำน้ำมันใส่แผล ใช้ทาผิวหนังให้นุ่มและชุ่มชื้น

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ในปัจจุบันงาดำนั้นส่วนมากจะนิยมนำมาทำเป็นขนมหรือส่วนผสมของขนมและผลิตภัณฑ์ที่ใช้บริโภคมากกว่าการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ แต่ก็มีตำรายาไทยแผนโบราณที่ได้ระบุปริมาณการใช้เพื่อบำบัดรักษาโรคต่างๆ เช่น

  • รักษาอาการปวดตามข้อ ใช้งาคั่วรับประทาน 2-3 ช้อนโต๊ะ 2-3 อาทิตย์
  • รักษาอาการอ่อนเพลีย เมื่อตามร่างกาย รับประทานงาคั่ว 2-3 ช้อนโต๊ะ 2-3 อาทิตย์
  • รักษาอาการเหน็บชา คั่วเมล็ดงา 1 ลิตร ร่วมกับรำข้าว 1 ลิตร และกระเทียมหั่น 1 กำมือ จากนั้น ตำบดผสมกัน และผสมน้ำผึ้งหรือน้ำตาลรับประทาน 1 เดือน
  • รักษาอาการคัดจมูก ใช้งาคั่ว 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับกับข้าวสุกหรือน้ำเต้าหู้รับประทาน 2-3 วัน
  • รักษาอาการเป็นหวัด รับประทานงาคั่ว วันละ 4 ช้อนโต๊ะ
  • รักษาอาการท้องผูก ใช้งาคั่วผสมกับเกลือรับประทานร่วมกับข้าว
  • รักษาอาการปวดประจำเดือน รับประทานงาผง ½ ช้อนชา วันละ 2 ครั้ง
  • ใช้บำรุงสมอง และระบบประสาท ใช้งาคั่วผสมกับมะขามป้อม และน้ำผึ้ง รับประทานวันละ 1 ครั้ง

เมล็ดแบน รูปไข่ สีดำ (งาดำ) และนวล (งาขาว) ผิวเป็นมัน เนื้อชุ่มน้ำมัน น้ำมันจากเมล็ดมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน เมล็ดรสฝาด หวาน ขม  น้ำมัน รสฝาดร้อน

งา : เป็นยาระบายอ่อน ๆ ชาวจีนถือว่า เป็นยาบำรุง กำลังและทำให้ร่างกายอบอุ่นมีสุขภาพดี และใช้ทาผิวหนังให้นุ่มและชุ่มชื่นดีขึ้น

ตำรับยาสมุนไพรล้านนา

ใช้รักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ตำรับยาน้ำมันที่ระบุในตำราพระโอสถพระนารายณ์: มีรวม 3 ตำรับ ที่ใช้น้ำมันงาเป็นส่วนประกอบ ดังนี้ “น้ำมันทรงแก้พระเกศาหล่น (ผมร่วง)ให้คันให้หงอก” ประกอบด้วยสมุนไพร 19 ชนิด นำมาต้มแล้วกรองกากออก เติมน้ำมันงา แล้วหุงให้เหลือแต่น้ำมันใช้แก้พระเกศาหล่อน คัน หงอก “น้ำมันแก้เปื่อยพัง” มีสรรพคุณ แก้ขัดเบาหรือปัสสาวะไม่ออก แก้ปวดขบ แก้หนอง มีรวม 2 ตำรับ แต่ละตำรับ ประกอบด้วยสมุนไพร 12 ชนิด และน้ำมันงาพอควร หุงให้เหลือแต่น้ำมัน ยานี้ใช้ ยอนเป่าเข้าไปในลำกล้อง (ทางเดินปัสสาวะในองคชาติ)

ส่วนตำราแพทย์แผนปัจจุบันระบุว่าสารออกฤทธิ์ในงาดำมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ต้านเซลล์มะเร็ง  รักษาอาการไอ จากการระบุประสิทธิภาพการรักษาโรคของเมล็ดงาโดยฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าช่วยบรรเทาอาการไอ นับเป็นประโยชน์ข้อเดียวของงาดำและงาขาวที่มีข้อมูลมากที่สุดในปัจจุบัน  ลดระดับคอเลสเตอรอล น้ำมันงาเป็นหนึ่งในน้ำมันจากพืชที่กล่าวกันว่าดีต่อสุขภาพ โดยเชื่อว่าอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งเป็นไขมันชนิดดีที่ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลและในน้ำมันงานี้ยังพบไขมันอิ่มตัวในปริมาณน้อยวัยทอง หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนซึ่งเป็นภาวะของความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและจิตใจจากการที่ร่างกายไม่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนอีกต่อไป อาจได้ใช้ประโยชน์จากสารเซซามิน (Sesamin) ในเมล็ดงาที่เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกจุลินทรีย์ในลำไส้เปลี่ยนไปเป็นสารสำคัญอย่างเอนเทอโรแลกโตน (Enterolactone) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์เอสโตรเจนและมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายฮอร์โมนเอสโตเจนของเพศหญิงอย่างไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogens) งาเป็นอาหารที่มีแร่ธาตุมากที่สำคัญ คือ ธาตุเหล็ก ไอโอดีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส โดยปริมาณแคลเซียมที่พบจะมีมากกว่าพืชผักทั่วไปกว่า 40 เท่า และฟอสฟอรัสมากกว่าพืชผักทั่วไปกว่า 20 เท่า ซึ่งเป็นธาตุที่ทำหน้าที่เสริมสร้างกระดูก โดยเฉพาะเด็กเล็ก และสตรีวัยหมดประจำเดือนกรดไขมันไลโนเลอิค และกรดไขมันชนิดโอเลอิค ช่วยในการลดระดับไขมันชนิดต่างๆในเส้นเลือด และช่วยป้องกันการเกิดเกล็ดเลือด และลิ่มเลือด  งามีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณตํ่า แต่มีวิตามินบีทุกชนิดสูงจึงนับได้ว่างามีวิตามินบีอยู่เกือบทุกชนิด จึงมีสรรพคุณช่วยบำรุงระบบประสาท บำรุงสมอง บรรเทาอาการเหน็บชา แก้ร่างกายอ่อนเพลีย แก้อาการปวดเมื่อย และแก้การเบื่ออาหาร  งามีปริมาณใยอาหารในปริมาณสูง ทำหน้าที่เสริมสร้าง และกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทั้งการย่อย การดูดซึม และการขับถ่าย ช่วยป้องกันอาการท้องผูก ยับยั้ง และดูดซึมสารพิษ พร้อมขับออกทางอุจจาระ ทำให้ป้องกันมะเร็งในลำไส้ และควบคุมระดับไขมันในเลือด กรดไลโนเลอิคพบในเมล็ดงาจำนวนมาก เป็นกรดที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโต และช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง เพราะทำให้ผนังเซลล์ภายในภายนอกทำงานอย่างปกติ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. เด็ก ๆ เองรับประทานงาดำและงาขาวที่พบในอาหารปกติได้โดยไม่น่าจะเป็นอันตรายใด ๆ ส่วนการใช้เพื่อรักษาโรคบางชนิด เช่น อาการ ไอ ควรใช้เพียงช่วงสั้น ๆ โดยให้รับประทานน้ำมันงา 5 มิลลิลิตรก่อนนอนติดต่อกันไม่เกิน 3 วัน
  2. การรับประทานงาดำและงาขาวอาจทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำเกินไปในผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ
  3. ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวังการรับประทานงาดำและงาขาว เพราะอาจส่งผลให้ระดับของน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป
  4. เนื่องจากงาดำและงาขาวอาจส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดขณะผ่าตัดหรือหลังจากรับการผ่าตัดแล้ว ก่อนเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ จึงควรหยุดรับประทานงาดำอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  5. ผู้รับประทานบางรายอาจมีอาการแพ้ได้ เช่น ลมพิษ ริมฝีเปลือกตาปากบวมแดง คันจมูก หายใจลำบาก ความดันโลหิตลดลงจนช็อกหมดสติ โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นทันทีหลังจากรับประทาน 90 นาที
  6. หากรับประทานมากเกินไปจะทำให้เกิดการระบายมากผิดปกติจนนำไปสู่อาการท้องร่วงได้
  7. งาดำอาจเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ เนื่องจากงาดำมีขนาดเล็กมาก เวลารับประทานเข้าไปบางคนอาจเคี้ยวไม่ละเอียดทุกเม็ดแต่เลือกที่จะกลืนเข้าไปเลย ก่อให้เกิดการอุดตันและนำไปสู่มะเร็งลำไส้ได้

ถิ่นกำเนิดงาดำ 

งาดำมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา บริเวณประเทศเอธิโอเปีย แล้วแผ่กระจายไปยังอินเดีย จีน และประเทศต่างๆในแถบเอเชียรวมถึงประเทศไทยด้วย ส่วนในประเทศอินเดียมีการระบุว่ามีการปลูกงามาแล้วหลายพันปี ก่อนที่พ่อค้าชาวอาหรับ และเมดิเตอร์เรเนียลจะนำงาไปปลูกแถบอาหรับ และ ยุโรป

นอกจากนี้ยังมีผู้พบหลักฐานว่า ชาวบาบิโลนในประเทศโซมาเลียมีการปลูกงามานานกว่า 2,500 ปี ก่อนคริสตกาล และใช้นํ้ามันงาสำหรับทำยา และอาหาร ซึ่งมีบันทึกใน Medical Papyrus of Thebes กล่าวว่า ทหารโรมันได้นำงาไปปลูกในประเทศอิตาลีในคริสศตวรรษที่ 1 แต่ปรากฏว่าสภาพภูมิอากาศไม่เหมาะกับการปลูก และในช่วงปลายศตวรรษที่17 และ18 มีการนำงามาปลูกในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยทาสชาวแอฟริกัน

ด้านการใช้ประโยชน์จากงาดำนั้นอินเดีย จีน และประเทศอื่นๆ ในแถบเอเซียจะใช้งาทำเป็นนํ้ามันเพื่อปรุงอาหาร ส่วนชาวยุโรปจะนำงามาทำเค้ก ไวน์ และนํ้ามัน รวมถึงใช้ในการปรุงอาหาร และเป็นเครื่องหอม ส่วนชาวแอฟริกันใช้ใบงาทำ ดอกไม้เพลิง และพอกผิวหนัง และใช้เป็นสารไล่แมลงให้สัตว์เลี้ยงเป็นต้น

 

Scroll to top