คนทีเขมา

คนทีเขมา

ชื่อสมุนไพร : คนทีเขมา
ชื่ออื่น ๆ
: คนที (ภาคตะวันออก), โคนดินสอ, ดินสอดำ, ผีเสื้อดำ (ภาคกลาง), คนทีสอดำ (ภาคเหนือ), กูนิง, กุโนกามอ (มลายู), หวงจิง, อึ่งเกง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex negundo Linn.
ชื่อวงศ์ VERBENACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นคนทีเขมา เป็นพรรณไม้พุ่มมีความสูงประมาณ 6 เมตร กิ่งนั้นจะมีกลิ่นหอม ส่วนกิ่งอ่อนจะเป็นเหลี่ยม มีสีเทาและจะมีขนอ่อนปกคลุมด้วย
  • ใบคนทีเขมา เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงตรงข้าม มีใบย่อย 5 หรือ 3 ใบ โดย 3 ใบบนจะมีขนาดใหญ่กว่า 2 ใบล่าง ใบบนมีก้าน ส่วนใบล่างไม่มีก้าน ใบมีกลิ่น ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบยาวแหลม ส่วนขอบใบเรียบหรือหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีขาว ปกคลุมไปด้วยขนอ่อน
    คนทีเขมา
  • ดอกคนทีเขมา ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีอยู่เป็นจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีขาวแกมม่วงอ่อน กลีบดอกแตกออกเป็น 5 แฉก ขนาดไม่เท่ากัน มีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย เชื่อมติดกันที่โคน ปลายกลีบล่างแผ่โค้ง กลีบรองดอกเชื่อมกันเป็นถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกมีเกสรเพสผู้ 4 อัน
  • ผลคนทีเขมา ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปกลม แห้งเปลือกแข็งเป็นสีน้ำตาล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 มิลลิเมตร

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เปลือก, ใบ, ผล, ช่อดอก, ราก

สรรพคุณ คนทีเขมา :

  • ใบ ใช้ผสมในน้ำอาบ เพื่อให้มีกลิ่นหอม หรือจะใช้ทาหน้าผาก รักษาอาการปวดศีรษะ รักษาไข้หวัด เจ็บคอ ไอ โรคปวดตามข้อ หูอื้อ รักษาบิดไม่มีตัว ลำไส้อักเสบ รักษาไข้มาลาเรีย ดีซ่าน บวมฟกช้ำ กลาก เกลื้อน ฝี เชื้อรา ที่ เท้า บาดแผลจากของมีคม สุนัข หรือตะขาบกัด ไล่แมลง
  • ผล ใช้เป็นยาขับเสมหะ รักษาไข้หวัด หอบหืด ได เหน็บชา รักษาไข้มาลาเรีย ไข้รากสาดน้อย (typhoid fever) ปวดท้องโรคกระเพาะ กระเพาะอาหารเป็นแผล กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง ฝีคัณฑสูตร
  • ช่อดอก ใช้เป็นยาลดไข้ ฝาดสมาน รักษาอาการท้องเสีย
  • ราก ใช้เป็นยารักษาไข้หวัด ขับเสมหะ ไอ หอบหืด ขับปัสสาวะ รักษาโรคไข้มาเลเรีย โรคปวดตาม ข้อ โรคกระเพาะอาหาร ขับพยาธิเส้นด้าย (พยาธิเข็มหมุด)

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ลม ขับเหงื่อ แก้หวัด แก้ไอ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้โรคกระเพาะอาหาร ขับพยาธิเส้นด้าย โดยใช้รากต้มคนทีเขมา กับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ลมเสียดแทง ปวดท้อง แก้ไข้ ขับพยาธิ โดยใช้เปลือกต้นแห้งต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไข้หวัด ขับเสมหะ แก้บิด แก้มาลาเรีย แก้เจ็บคอ หูอื้อ ลำไส้อักเสบ แก้ดีซ่าน โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้หอบหืด โดยใช้ผลแห้ง 50 ลูก หรือ 6-15 กรัม บดเป็นผงแล้วเติมน้ำตาลทรายจำนวนพอควร ชงน้ำกินวันละ 2 ครั้ง
  • ใช้แก้ไข้รากสาดน้อย และไอ ไข้ป่า แผลในกระเพาะ แก้เหน็บชาโดยนำผล 3-10 กรัม มาคั่ว อย่าให้ไหม้ (เพราะจะทำลายฤทธิ์ของยา) แล้วต้มน้ำกิน
  • ใช้รักษาปวดท้องโรคกระเพาะ โดยใช้ผลแห้ง 3-10 กรัม บดเป็นผง ปั้นเป็นเม็ดกิน ใช้แก้ปวดข้อ โดยใช้กิ่งสด 15 กรัม ต้มน้ำ แบ่งกินเช้า-เย็น
  • ใช้ขับพยาธิเส้นด้าย โดยใช้รากสด 30 กรัม หั่นเป็นชิ้นบางๆ แล้วนำไปคั่วกับเหล้าหวานจนเป็นสีเหลือง ใส่น้ำ 2 ถ้วย ต้มให้เหลือ 1 ถ้วย กินก่อนอาหารค่ำ
  • ใช้แก้ไข้มาลาเรีย โดยใช้ใบสด 180 กรัม เติมน้ำพอท่วมแล้วต้มด้วยไฟอ่อนๆ เคี่ยวให้ข้น จนเหลือประมาณถ้วยครึ่ง แบ่งกินครึ่งหนึ่งก่อนมีอาการ หลังจากนั้น 2 ชั่วโมง กินส่วนที่เหลือ หรือ ใช้รากสด 30 กรัม ต้มน้ำกินก่อนมีอาการ 3 ชั่วโมง
  • ใช้รักษาไข้หวัด ลำไส้อักเสบ บิดไม่มีตัว โดยใช้ใบสด 35-40 ใบ หรือ 10 กรัม ต้มกับน้ำ 3 ถ้วย เคี่ยวให้เหลือถ้วยครึ่ง แบ่งกินวันละ 3 ครั้ง
  • ใช้รักษาเชื้อราที่เท้า โดยใช้ใบสดตำละเอียดพอกบริเวณที่เป็น
  • ใช้รักษาแผลพุพองจากไฟไหม้ โดยนำกิ่งแห้งมาคั่ว อย่าให้ไหม้ บดเป็นผงผสมน้ำมัน ทาบริเวณแผล
  • ใช้รักษาบาดแผลจากของมีคม หรือ ตะขาบกัดโดยใช้ใบสดตำละเอียดพอกบริเวณที่เป็น

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้คนทีเขมาเป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ นอกจากนี้ในตำรายาจีนได้ระบุไว้ว่าห้ามใช้คนทีเขมา ในผู้ที่มีภาวะพร่อง (ผู้ที่มีสีหน้าซีด ขาว ผอมแห้ง อิดโรค อ่อนเพลีย ไม่มีแรง และหายใจตื้น)

Scroll to top