ข้าวเย็นเหนือ

ข้าวเย็นเหนือ

ชื่อสมุนไพร : ข้าวเย็นเหนือ
ชื่ออื่น :
  ข้าวเย็นโคกแดง, ค้อนกระแต, หัวข้าวเย็นเหนือ, หัวข้าวเย็นวอก, ยาหัวข้อ (อุบลราชธานี), หัวยาข้าวเย็น, ข้าวเย็นวอก (ภาคเหนือ), หัวยาจีนปักษ์เหนือ (ภาคใต้), เสี้ยมโค่ฮก, เสี้ยมโถ่ฮก (จีนแต้จิ๋ว), ถู่ฝุหลิง และ หงถู่หลิง (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Smilax corbularia Kunth.
ชื่อวงศ์ : SMILACACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ข้าวเย็นเหนือ จัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีหัวหรือเหง้าเนื้อแข็งอยู่ใต้ดิน เถามีลักษณะกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย มีหนาม กระจายห่างๆ มักเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น หรือ ตามพื้นดินในสภาพที่สมบูรณ์ เถาเลื้อย อาจยาวได้ถึง 5 เมตร 


  • ใบข้าวเย็นเหนือ  ใบออกเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ เป็นรูปรีแรมรูปใบหอก กว้าว 3-8 เซนติเมตร และยาว 5-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลมโคนใบมนไม่เว้า ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นมันหนาคล้ายแผ่นหลัง ผิวใบเรียบทั้งสองด้าน หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบมีขนสีขาวปกคลุม ใบมีเส้นใบหลักประมาณ 5-7 เส้น โดยเส้นกลาง 3 เส้น จะเห็นได้ชัดกว่าเส้นด้านข้าง


  • ดอกข้าวเย็นเหนือ ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม 1-3 ช่อดอก ออกที่ซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง ดอกแยกเพศต่างต้น ใบประดับย่อยรูปไข่กว้าง ดอกสีเขียว กลีบรวม 6 กลีบ รูปรี หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กลีบวงในมักแคบกว่ากลีบวงนอก ช่อดอกเพศผู้มี 20-40 ดอกต่อช่อ เกสรเพศผู้มีจำนวน 6 อัน  อับเรณูรูปขอบขนาน ช่อดอกเพศเมียมี 15-30 ดอกต่อช่อ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1-2 เมล็ด มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 3 อัน รูปคล้ายเข็ม 

  • ผลข้าวเย็นเหนือ ผลออกเป็นกระจุกแน่น ลักษณะเป็นทรงกลม เป็นผลแบบมีเนื้อ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 มิลลิเมตร เมื่อผลอ่อนเป็นสีเขียวแต่เมื่อผลสุกจะเป็นสีม่วงดำ ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด


ส่วนที่ใช้เป็นยา : หัว, ต้น, ใบ, ผล

สรรพคุณ ข้าวเย็นเหนือ :

  • หัว มีรสมันกร่อยหวานเล็กน้อย แก้ประดง แก้มะเร็งคุดทะราด แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้กามโรค เข้าข้อออกดอก เข้าข้อ ฝีแผลเน่าเปื่อยพุพอง ทำให้แผลฝียุบแห้ง แก้ประดง แก้เม็ดผื่นคัน ดับพิษในกระดูก แก้ปัสสาวะพิการ แก้อักเสบในร่างกาย นิยมใช้คู่กันทั้งข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ เรียกว่า ข้าวเย็นทั้งสอง
  • ต้น รสจืดเย็น แก้ไข้เรื้อรัง ไข้ตัวร้อน
  • ใบ รสจืดเย็น แก้ไข้เหนือ แก้ไข้สันนิบาต
  • ผล รสขื่นจัด แก้ลมริดสีดวง

ข้อมูลเพิ่มเติม :

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้มะเร็ง โดยบดยาหัวให้ละเอียด ผสมกับส้มโมง ต้นจนแห้ง แล้วผสมกับน้ำผึ้ง กินวันละ 1 เม็ด
  • ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้กามโรค ดับพิษในกระดูก แก้ปัสสาวะพิการ แก้อักเสบในร่างกาย แก้มะเร็งคุดทะราด ใช้บำรุงเลือดลม บำรุงกำลัง แก้ไข้ แก้ประดง โดยใช้เหง้า(หัว)ข้าวเย็นเหนือ แห้งต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไอ โดยใช้หัวข้าวเย็นเหนือ 5 บาท และหัวข้าวเย็นใต้ 5 บาท นำมาต้ม และเติมเกลือทะเลเล็กน้อย ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า และเย็น
  • ใช้แก้ริดสีดวงทวาร จะใช้ตัวยา 12 อย่าง ได้แก่ หัวข้าวเย็นเหนือเย็น ข้าวเย็นใต้ แก่นจำปา พริกไทยล่อน เครือส้มกุ้ง จันทน์ขาว จันทน์แดง จุกกระเทียม จุกหอมแดง รากลำเจียก เหง้าสับปะรด และสารส้ม นำมาต้มในหม้อดิน ใช้ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา เช้า กลางวัน และเย็น
  • ใช้แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยใช้ข้าวเย็นเหนือ และข้าวเย็นใต้อย่างละ 30 กรัม โกฐหัวบั, โกฐเขมา, เจตมูลเพลิง, เถาวัลย์เปรียง อย่างละ 20 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ จะนำมาแช่กับเหล้า ทิ้งไว้ 7 วัน แล้วนำมาดื่มก็ได้
  • ใช้เป็นยารักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก โดยใช้ข้าวเย็นเหนือ และข้าวเย็นใต้ นำมาบดเป็นผง ผสมกับน้ำมันมะพร้าว หรือ น้ำมันงา แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ โดยหัวใต้ดินนำมาต้มกับน้ำให้เด็กอาบ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ส่วนต่างๆ ของข้าวเย็นเหนือเป็นเครื่องยาสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากหรือน้อยจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้ข้าวเย็นเหนือ เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

ถิ่นกำเนิดข้าวเย็นเหนือ 

ข้าวเย็นเหนือ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณประเทศพม่า ไทย และลาว แล้วจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง สำหรับในประเทศไทย มักจะพบมากทางภาคเหนือของประเทศ และบางพื้นที่ในภาคอีสานบริเวณ ป่าโปร่ง ป่าดงดิบเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั้งนี้มีการนำเหง้าใต้ดินของข้าวเย็นเหนือมาใช้เป็นเครื่องยา โดยพบว่าจะมีเหง้าพืชอีกชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ทำเป็นเครื่องยาที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน คือ ข้าวเย็นใต้ แต่จะมีลักษณะที่แตกต่างกันที่สามารถสังเกตได้ คือ ข้าวเย็นเหนือจะมีเนื้อสีแดงเข้ม เนื้อละเอียด มีรสมัน ส่วนข้าวเย็นใต้หัวมีเนื้อสีขาว และมีรสมันอร่อยออกหวานเล็กน้อย จะเป็นเครื่องยาที่นำเข้ามาจากประเทศจีน

Scroll to top