ข้าวสารป่า

ข้าวสารป่า

ชื่อสมุนไพร : ข้าวสารป่า
ชื่ออื่นๆ :
กระดูกงูเหลือม, เข็มขาว (สุรินทร์), เข็มป่า, เข็มแพะ, ยาแก่ (ลาหู่)
ชื่อสามัญ : Eng : White pavetta
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pavetta tomentosa Roxb. ex Smith.
ชื่อวงศ์ : RUBIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : 

  • ข้าวสารป่าไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง สูง 1-5 เมตร เรือนยอดแผ่กว้างระเกะระกะ กิ่งเกลี้ยง หรือมีขนสั้นนุ่ม กิ่งอ่อนกลวง มีขนปกคลุมทั่วไป เปลือกต้นสีน้ำตาลออกชมพู ผิวเรียบ หลุดลอกเล็กน้อย
  • ใบข้าวสารป่า เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-10 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร ปลายมน หรือแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีเขียวหม่น ผิวด้านบนมีขนสั้นนุ่มประปราย ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ 8-15 เส้น ก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร มีขน หูใบอยู่ระหว่างก้านใบ รูปสามเหลี่ยม หลุดร่วงง่าย กว้าง 5-6 มิลลิเมตร ยาว 3-7 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนสั้น ด้านในเกลี้ยง ก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร กิ่งก้านค่อนข้างสี่เหลี่ยม มีตุ่มพองสีเข้มบนผิวใบด้านล่าง ซึ่งมีแบคทีเรียที่ช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้
  • ช่อดอกข้าวสารป่า แบบช่อกระจุกแยกแขนง ดูคล้ายช่อเชิงหลั่น สีขาว มีกลิ่นหอม ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง หรือเหนือรอยแผลใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร ช่อดอกกลม หลวมๆ มีขนาด 10-15 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก ก้านดอกย่อย ยาว 5-10 มิลลิเมตร มีขน กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมกันเป็นรูปแตร หลอดแคบ หลอดยาว ประมาณ 10 มิลลิเมตร ผิวด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนหนาแน่นที่ปลายหลอด แยกเป็นกลีบ 4 กลีบ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 6-7 มิลลิเมตร กว้าง 2-3 เซนติเมตร กลีบดอกบิดซ้อนในดอกตูม เกสรเพศผู้ 4 อัน ติดที่ปลายหลอดกลีบดอก สลับกับแฉกกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว 4-5 มิลลิเมตร อับเรณูบิดเป็นเกลียว เชื่อมติดกับปากหลอดกลีบ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบมี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียเรียวและยาวมาก ยาวอย่างน้อย 2 เท่าของหลอดกลีบ โคนเกลี้ยง ปลายมีขนสั้น ๆ ยื่นยาวโผล่พ้นหลอดกลีบดอกมาก จานฐาน ดอกรูปวงแหวน กลีบเลี้ยง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ผิวด้านนอกมีขน ปลายหลอดแยกเป็น 4 กลีบ สั้น ๆ
  • ผลข้าวสารป่า  คล้ายผลผนังชั้นในแข็ง กลม มี 2 พู เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-6 มิลลิเมตร สีเขียวเป็นมัน เมื่อแก่เป็นสีดำ มีชั้นกลีบเลี้ยงกลมๆด้านบน เนื้อผลบาง ภายในมี 2 เมล็ด สีน้ำตาล ด้านหนึ่งโค้ง ด้านหนึ่งแบน พบทั่วไปในป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา และป่าเบญจพรรณ ความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-700 เมตร ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนเมษายน- สิงหาคม

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, ราก, เปลือกต้น, ผล, ดอก

สรรพคุณข้าวสารป่า :

  • ใบ รสเมาเบื่อ รักษาโรคในจมูก ฆ่าพยาธิ ใช้น้ำต้ม แก้อาการไข้
  • ใบและราก ใช้พอกฝี รักษาริดสีดวงทวาร แก้หิด  
  • เปลือกต้น  มีรสเมาเบื่อ ตำคั้นเอาน้ำหยอดหูฆ่าแมลงคาในหู
  • ผล รสเมาเบื่อ แก้ริดสีดวงงอกในจมูก
  • ดอก มีรสฝาดเย็น แก้ตาแดงตาแฉะ
  • ราก มีรสเฝื่อน แก้เสมหะในท้องและในทรวงอก ต้มน้ำกินแก้บิด บำรุงกำลัง ช่วยให้เจริญอาหาร ใช้กับหญิงคลอดบุตรช้ากว่ากำหนด บำรุุงสตรีหลังคลอด

 

Scroll to top